ไวล์ดเอด เผยหูฉลามที่ขายในไทย 62% มาจากฉลามเสี่ยงสูญพันธุ์ และฉลามวัยอ่อน
องค์กรไวล์เอด (WildAid) ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาดีเอ็นเอจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในไทย พบชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ที่ขายตามแหล่งค้าถึง 62% มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์
นักวิจัย สจล. ร่วมกับกรมประมงเก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด โดยผลการระบุชนิดพันธุ์ฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ในไทยโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ที่พบ เป็นหูฉลามจากสายพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List อยู่ถึง 62% ทั้งนี้ ฉลามหางจุด (Carcharhinus sorrah) เป็นหูฉลามที่มีสัดส่วนที่พบมากทสุด มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในระดับโลก แต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จากน่านน้ำไทยจากการประเมินใน Thailand Red Data
นอกจากนี้ยังพบปลาฉลามหัวค้อนสองชนิดพันธุ์ คือ ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หรือ (Sphyrna lewini) และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran) ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จากการประเมินสถานภาพในระดับโลก และในไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดพันธุ์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
ผลการศึกษาตอกย้ำว่า หูฉลามที่นำมาใช้ประกอบอาหารอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และสะท้อนว่าตลาดค้าครีบฉลามในไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง นอกจากนี้พบปลาฉลามที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในครีบที่มีขนาดเล็กซึ่งมีโอกาสเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อนอีกด้วย
ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในไทยโดยองค์กรไวล์ดเอด ปีพ.ศ. 2560 พบคนไทยในเขตเมืองมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้ อยากลอง และค่านิยมเดิม ๆ ของการบริโภคเมนูจากฉลามในงานฉลอง
“ในช่วง 20 ปีมานี้ งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าประชากรฉลามหลายชนิดลดลงอย่างมากทั่วโลกรวมถึงในไทย จากอัตราการจับและการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามที่มากเกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของประชากรพวกมันในท้องทะเล ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค สอดคล้องกับรายงานฉบับอื่นที่พูดถึงบทบาทการกระจายผลิตภัณฑ์หูฉลามของไทยในท้องตลาดในระดับสากล” นายศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และทีมนักวิจัย กล่าว
“ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ แถมอาจจะเป็นฉลามวัยเด็กอีกด้วย ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่า การบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด จริง ๆ แล้วการบริโภคที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดด้วยการหยุดบริโภคฉลามโดยเด็ดขาด” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว