วราวุธ แจง ใช้สารขจัดคราบน้ำมันเท่าที่จำเป็น ยึดตามจำนวนน้ำมัน
ด้านรมช.คมนาคม สั่งเจ่าท่าป้องกันน้ำมันรั่วซ้ำ 24 ชม.
(18 ก.พ. 65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงเหตุการณ์น้ำมันรั่วคืนวันที่ 25 ม.ค. 65 ว่า เหตุเกิดเวลา 22.00 น. และหยุดตอนเวลาเที่ยงคืนกว่าๆ ซึ่งเวลาดังกล่าว กลางทะเลจะมืดจนมองไม่เห็นเลยว่าน้ำมันมันรั่ว แล้วจะลอยอยู่ตรงไหนบ้าง
“เหตุเกิดกลางคืนเราเตรียมบูมไม่ทัน เมื่อรั่วไปแล้ว การใช้สารดิสเพอร์แซนท์ถ้าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดคือการเอาบูมน้ำมันมารอบน้ำมันทั้งหมดแล้วใช้อัตราส่วนต่างๆ แต่พอไม่รู้ว่าน้ำมันมันรั่ว หรือไปทางไหน บูมเรานำมาไม่ทัน ถ้าจะแก้ปัญหา ณ เวลาจะเที่ยงคืนนั้น มันต้องฉีดไปทั้งกลางคืนแบบนั้น ถ้าจะมาฉีดกลางวัน น้ำมันคงขึ้นฝั่งไปหมดแล้ว” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำมันรั่วออกมาแค่ไหน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถรู้ได้ ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดคือบริษัทต้นเรื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อบริษัทบอกจำนวนเท่าไหร่ ก็ต้องยึดตามนั้น ส่วนสารดิสเพอร์แซนท์ที่มีข่าวว่า เป็นสารที่ใช้ในปี 56 ขอชี้แจงว่า เป็นสารยี่ห้อเดิมแต่ไม่ใช่สารตัวเดิม ตัวที่ใช้ในครั้งนี้มีความปลอดภัยมากกว่า สามารถย่อยคราบน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลที่ จ.ระยองว่า บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC มีหนังสือแจ้งมายังกรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าพบจุดเสียหายบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมันในตำแหน่งที่ 2 เพิ่มเติม ส่งผลให้น้ำมันที่ค้างท่ออาจรั่วไหลออกมาได้ บริษัทฯ จึงขอปฏิบัติงานพันท่อเพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังคนและอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมเข้าระงับเหตุ โดยได้จัดเรือรวม 32 ลำ ร่วมกับการวางแนวบูมล้อมรอบบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ เพื่อป้องกันคราบน้ำมันดิบแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง และเตรียมใช้เรือดูดเพื่อตักคราบน้ำมันดิบที่ลอยอยู่ในทะเล พร้อมกันนี้ ได้กำชับมาตรการและแผนรองรับเหตุที่เกิดขึ้นให้มีความรัดกุม และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ดังนี้
1)การปฏิบัติการในทะเล ให้บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขให้รัดกุมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมและเตรียมแผนรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก
2)ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ ตลอด 24 ชม.
3)การสื่อสาร ขอให้บริษัทฯ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ทราบสถานการณ์และมาตรการในการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่ถูกต้อง