นักวิชาการ ห่วงคุณภาพน้ำชายฝั่ง หลังเร่งระบายน้ำจืดลงทะเล

นักวิชาการ ห่วงคุณภาพน้ำชายฝั่ง หลังเร่งระบายน้ำจืดลงทะเล แนะประมงชายฝั่งพร้อมรับมือ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะประมงมีสถานีวัดคุณภาพน้ำชายฝั่งที่ศรีราชา และด้วยความร่วมมือจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรนี้ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ทำให้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของทะเลไทย ที่สามารถรายงานผลแบบ real time ได้ตลอดเวลา
ซึ่งเมื่อข้อมูลย้อนหลังในช่วง 7 วัน ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า โดยส่วนตัวเริ่มรู้สึกเป็นกังวล เพราะช่วงแรกๆ กราฟแสดงผลค่าความเค็มยังคงปกติ โดยขึ้นลงอยู่ที่ 24-28 แต่ช่วงวันที่ 8-9 กันยายนที่ผ่านมา จากที่หลายคนทราบดีว่า น้ำท่วมศรีราชา จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีน้ำจืดทะลักลงทะเลเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้กราฟค่าความเค็มตกลงมาแบบผิดปรกติ เหลือแค่ 16-17 และยังพบว่า กราฟกระตุกเป็นจังหวะ นั่นหมายถึง มวลน้ำจืดไหลลงมาเป็นก้อนๆ
ผศ.ดร.ธรณ์ เพิ่มเติมว่า ความเค็มที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ส่งผลต่อสัตว์ในทะเลและวิถีชีวิตของคนทำมาหากินในทะเลและชายฝั่ง เพราะศรีราชคือแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีกระชังมากมาย การที่น้ำจืดทะลักลงมา หอยย่อมเกิดปัญหา อย่างเมื่อปี 54 คนเลี้ยงหอยแถวสมุทรปราการก็ได้รับผลกระทบใหญ่จากเหตุน้ำท่วม ทั้งหอยตาย คุณภาพน้ำแย่ น้ำจืดมากผิดปกติ ส่งผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่ได้ได้หยุดอย่าแค่หอย
“พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านออกหากินในระยะใกล้ๆ ในแหล่งคุ้นเคย อาจพบว่าจับสัตว์ได้น้อยลง รายได้ลดลง หากอยากจับให้ได้พอเลี้ยงครอบครัว ก็ต้องออกไปไกลขึ้น นานขึ้น ค่าน้ำมันมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น สุดท้าย เมื่อเวลาผ่านไป หากฟ้าโปร่งแดดจัดในสัปดาห์หน้า เราอาจเจอแพลงก์ตอนบลูม น้ำเขียวปี๋ เพราะธาตุอาหารลงไปกับน้ำจืดเยอะมากผิดปกติ ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อโลกร้อนจนแปรปรวน สภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่น้ำท่วมรถติดเท่านั้น ทะเลคือปลายน้ำ ทุกฝ่ายเร่งระบายน้ำจืดออกทะเล ผลกระทบย่อมเกิดกับคนชายฝั่งอย่างเลี่ยงไม่ได้”
ผศ.ดร.ธรณ์ เสนอทางแก้ปัญหาแบบบรรเทาความเดือดร้อนให้น้อยที่สุด ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ โดยเสนอให้ยกระดับฐานข้อมูลและการเก็บ ซึ่งเคยเสนอต่ออนุกรรมการน้ำจืด/เค็มไปแล้ว เพราะหากประเทศไทยมีสถานีเหมือนที่ศรีราชา ทั้งที่ปากน้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำแม่กลอง รัฐจะหาคำตอบของปัญหาเพื่อสร้างทางออกที่ชัดเจนได้