ENVIRONMENT

เจ้าท่าตรัง เตรียมชะลอขุดร่องน้ำทะเลตรัง หวั่นกระทบแหล่งอนุรักษ์พะยูน

วันนี้ (8 เม.ย. 65) นายจรัญ ดำเนินผล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า เปิดเผยความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำทะเลตรัง ว่า ได้ส่งเรื่องให้กับคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ที่จัดตั้งขึ้นตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อร่วมรวบรายชื่อคณะกรรมการร่วม ก่อนส่งให้กรมเจ้าท่า โดยได้มีการตอบสงสัยหลายประเด็นตามข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ ที่ขอให้ศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม เช่น การเคลื่อนย้ายของตะกอนในหน้ามรสุม การฟุ้งกระจายของตะกอน และการนำหินสายสมอในร่องน้ำออก

นายจรัญ กล่าวว่า ในปี 2565-2566 จะไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ทุกอย่างตกผลึก เพราะการศึกษาต้องชัดเจนว่า หากขุดแล้วจะไม่มีผลกระทบ การจะเข้ามาดำเนินการได้ ต้องไม่มีผลกระทบต่อหญ้าทะเล รวมถึงการกำหนดจุดทิ้งตะกอนที่ชัดเจน เช่นเดียวกับปริมาณการขุดและทิ้ง เพื่อไม่ให้ตะกอนกระทบต่อหญ้าทะเลและสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า แต่นักอนุรักษ์และชาวบ้านเชื่อว่าจะส่งผลกระทบแหล่งอนุรักษ์พะยูน เนื่องจากปัจจุบันสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบงถูกตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตังที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 ทับถมจนเกิดความเสียหายหลายพันไร่ เสี่ยงต่อการคุกคามการดำรงชีวิตของพะยูน และอาจส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่นของพะยูนได้ เนื่องจากพะยูนขาดแหล่งอาหารที่เหมาะสม และยังส่งผลกระทบต่อการทำประมงของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดที่อาศัยแหล่งหญ้าทะเลเป็นพื้นที่อนุบาล ลดจำนวนลงอย่างมาก

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง กล่าวว่า นักอนุรักษ์และชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการขุดลอก เพราะมองว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำตรังก็จำเป็น เมื่อแม่น้ำตื้นเขินก็ต้องมีการขุดลอก ซึ่งตามหลักที่ตกลงกันไว้ จะขุดลอกเฉพาะที่จำเป็น โดยกรมเจ้าท่าไม่ควรขยายร่องน้ำให้ลึกหรือกว้างเกินกว่าที่ได้รับประกันความลึกร่องน้ำเอาไว้ ที่ 55 เมตร แต่หากจะขุดลึกกว่านี้ ปากร่องน้ำที่ถูกขยายให้กว้าง ทำให้ต้องทุบหินสายสมอออกบางส่วน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพราะปริมาณหิน ทราย จากการขุดลอกมีจำนวนมหาศาล ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้หินสายสมอเป็นที่หลบพายุ การทุบหินสายสมอจึงกระทบต่อระบบนิเวศเช่นกัน

Related Posts

Send this to a friend