Beach for life บุกกรมโยธาฯ ร้องสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA
Beach for life บุกกรมโยธาฯ ร้องสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA หยุดเดินหน้าโครงการทำลายชายฝั่ง พร้อมปักหลักกระทรวงทรัพย์ฯ เย็นนี้สี่โมง
วันนี้ (6 ธ.ค.65) Beach for life เคลื่อนพลทวงคืนชายหาด ทำกิจกรรมด้านหน้ากรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระราม 6 แถลงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในการให้อำนาจกรมโยธาฯ รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น เพื่อป้องกันชายฝั่ง พร้อมยืนไว้อาลัยให้แก่ชายหาดที่เสียหายเป็นเวลา 5 นาที
นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวว่า การระบาดของกำแพงกันคลื่นเกิดจากรัฐปล่อยให้กรมโยธาฯ มีอำนาจป้องกันชายฝั่ง ทั้งที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในงานด้านทะเล และอาศัยช่องว่าง “กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA” ทำให้กำแพงกันคลื่นระบาด 125 โครงการ รับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่า และกรมโยธาฯ ใช้งบประมาณกว่า 8,487,071,100 บาท (ตั้งแต่ปี 2558-2565) โดยกรมโยธาธิการฯ กลายเป็นกรมหลักได้รับจัดสรรงบประมาณ 6,694,899,400 บาท ใน 107 โครงการ โดย 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องกลับมาทำ EIA
2.รัฐบาลต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาฯ ป้องกันชายฝั่ง เนื่องจากกรมโยธาฯ ขาดความรู้ความเข้าใจ และสร้างความเสียหายต่อชายหาดร้ายแรง
3.รัฐบาลต้องฟื้นฟูชายฝั่งที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่นให้กลับมาเป็นชายหาด โดยเริ่มจากหาดท่องเที่ยวสำคัญ
หากข้อเรียกร้องไม่เป็นผล จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากไม่ต้องการคุยกับกรมโยธาฯ ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอันใด มีเพียงนโยบายที่สร้างความเสียหายต่อชายหาด ไม่มีมโนสำนึกที่จะตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
นางสาวกรรณิการ์ แพแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด อ่านแถลงการณ์ประณามความไม่ชอบธรรมของกรมโยธาฯ ใจความระบุว่า นับตั้งแต่กำแพงกันคลื่นถูกถอดจากโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมโยธาฯ ลุแก่อำนาจอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ไม่สนใจข้อเท็จจริงทางวิชาการ และบทเรียนความล้มเหลวในการป้องกันแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมโยธาฯ ไม่เคยทบทวนนโยบายการดำเนินงานแม้แต่น้อย
ขอเรียกร้องต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรว่าการกระทรวงมหาดไทย โปรดจงเรียกมโนสำนึกของผู้บริหารกรมโยธาฯ ที่กำลังจะสูญสิ้นไปพร้อมชายหาด หยุดดันทุรังเดินหน้าผลักดันโครงการกำแพงกันคลื่นที่ทำลายชายหาดไทย โดยไร้ความรับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตรงที่ต้องสั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชาให้รู้ผิดชอบชั่วดีและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด
นางสาวกรรณิการ์ ชี้ให้เห็นว่ากำแพงกันคลื่นไม่ได้แก่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง เนื่องจากท้ายกำแพงยังมีการกัดเซาะอยู่ เป็นการใช้งบประมาณไม่รู้จบ ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าว ผ่านมาแล้วร่วม 10 วัน กลับไม่มีการตอบรับใด ๆ โดยเย็นนี้เวลา 16.00 น.จะเดินหน้าปักหลักที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สู้ยาว จนข้อเรียกร้องจะบรรลุผล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Beach for life ได้นำรูปภาพชายหาดที่เสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมาแสดงต่อสื่อมวลชน อาทิ หาดแหลมเสด็จ จ.จันทบุรี หาดชะอำ จ.เพชรบุรี หาดทรายแก้ว จ.สงขลา หาดปราณบุรี หาดอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดหน้าสตน จ.นครศรีธรรมราช