ENVIRONMENT

คืนปูม้าสู่ทะเลไทย ได้มากกว่าอนุรักษ์ธรรมชาติ

ธนาคารปู เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชน เพิ่มปูในทะเลเกือบพันล้านตัวในรอบ 4 ปี ตัวอย่างการพัฒนาแบบยั่งยืน

ตั้งแต่เราทำเรื่องนี้ ในปี 2558  เราปล่อยปูสู่ทะเลทุกปี สามารถคืนปูสู่ทะเลแล้วกว่า 900 ล้านตัวแล้ว ขณะที่ชาวประมง สามารถจับปูได้เพิ่มจากวันละ ไม่ถึง 10 กิโล เป็นวันละ 200 กิโล มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 3-6 พันบาทเป็นเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท กลายเป็นว่า สิ่งนี้ได้สร้างรายได้ให้ชุมชน มากไปกว่านั้นคือรอยยิ้ม ความสุข ที่เกิดขึ้นจากการที่ชาวประมงนำแม่ปู มามอบให้เรา เพื่อให้มีลูกปูออกมาใหม่ครั้งละหลายแสนตัว เป็นลูกปูของทุกคน

โครงการ “ธนาคารปูม้า” เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก ความพยายามในการแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเล และสัตว์น้ำ ที่ได้รับการขยายผลต่อยอดโดยภาครัฐอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการประยุกต์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัย ที่ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณปูม้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จากเดิมที่ใช้เพียงภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวประมง ที่ใช้วิธีการง่ายๆ โดยนำปูม้าไข่ที่จับได้มาเขี่ยไข่แล้วปล่อยคืนสู่ทะเลเป็นการเพิ่มจำนวนปูม้าในทะเลด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อใช้การวิจัยเข้ามาช่วยก็ได้เกิดรูปแบบการอนุรักษ์ปูม้า 3 รูปแบบคือ การสลัดไข่ปูในกระชังบริเวณชายฝั่ง การสลัดไข่ปูบนชายฝั่ง และการสลัดไข่ปูตามธรรมชาติในกระชังลอยในทะเล ขณะเดียวกันยังส่งผลให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ปูม้าและการจัดการธนาคารปูม้า เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบกิจกรรมสลัดไข่ปูและการจัดการธนาคารปูม้า

แม่ปูแต่ละตัวสามารถเก็บไข่ปูได้จำนวนมาก ช่วยเพิ่มจำนวนปูได้

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เสนอขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างรวดเร็วในชุมชนชายฝั่ง จำนวน 500 ชุมชนในระยะ 2 ปีโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้า การอนุบาลแม่ปูไข่นอกกระดอง และลูกปูม้าวัยอ่อน แหล่งที่อยู่อาศัยของลูกปูม้าวัยอ่อน ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล และการขนย้ายลูกปูม้าลงทะเล และทำให้เกิดโครงการขึ้นมากมายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ร่วมกันบูรณาการ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบการวิจัยและหลักวิชาการ เพื่อจะทำให้สามารถแก้ปัญหาปริมาณปูม้าที่ลดลงในท้องทะเล

เยาวชน และคนในชุมชนร่วมกันปล่อยลูกปูม้าสู่ท้องทะเล

หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จ อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน คือโครงการ “ศูนย์อนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ” ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับ สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ แพปลาทรัพย์อนันต์ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ที่บ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 และปัจจุบันได้ต่อยอดโครงการนี้ จนได้เปิดศูนย์อนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำกลุ่มพังสาย ที่บ้านพังสาย ชายทะเลหมู่ 7 ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา เป็นแห่งที่ 2 เมื่อปลายเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา

“ศูนย์อนุรักษ์เพาะฟักลูกปู และสัตว์น้ำ บ้านหัวเขา ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันนี้ เราประเมินว่า เราได้ปล่อยลูกปูม้าไปแล้วทั้งสิ้น ประมาณ 800 – 900 ล้านตัว ทั้งที่เราปล่อยเอง และที่หน่วยงานต่างๆ โรงเรียน หรือส่วนราชการขอไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดเราดำเนินการให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และผลที่ได้ในเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ ชาวประมงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จับปูได้มากขึ้น โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000-6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยชาวบ้านบอกว่า จากเดิมที่จับปูได้ 10 – 20 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 100 – 200 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก เมื่อชาวบ้านเห็นประโยชน์ของโครงการฯ ก็จะกลับมาสนับสนุน ให้ความร่วมมือ นอกจากนั้น ในแง่การศึกษาเรียนรู้แล้ว ศูนย์ฯ ยังได้รองรับผู้สนใจศึกษาดูงานจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ จากศรีลังกา ยุโรป อินเดีย หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้สนใจศึกษา นำเรื่องนี้ไปทำวิทยานิพนธ์ และนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมาก” นายประพนธ์ จารุไสลพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ. เปิดเผย

การออกเรือทำทำแนวกั้นเขต (ซั้งกอ) บริเวณบ้านพังสาย

ล่าสุด ปตท.สผ. ยังต่อยอดโครงการด้วยการร่วมกับชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ ทำแนวกั้นเขต (ซั้งกอ) บริเวณบ้านพังสาย เพื่อให้สัตว์น้ำได้ซ่อนตัวและเติบโต โดยได้ทำแนวกั้นเขตกั้นพื้นที่จากชายหาด 500 เมตร และให้ชาวบ้านตกลงกันเอง ว่าไม่ให้จับปลาในบริเวณนี้ โดยไม่ต้องออกเป็นกฏหมาย เป็นข้อตกลงและความร่วมมือของชาวบ้านกันเอง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี เมื่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกปล่อยในทะเล จะได้ซ่อนตัวและเติบโตในบริเวณซั้งกอ เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน พอแข็งแรงแล้วก็จะออกไปหากินบริเวณนอกเขต 500 เมตรไม่ไกลนัก ทำให้บริเวณนั้นสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่ต้องออกเรือไปไกลก็สามารถจับสัตว์น้ำได้ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก เสี่ยง หรือใช้เวลานานเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป

“เมื่อชาวบ้านอยู่ดีกินดี ปัญหาอื่นๆ ทางสังคมก็จะน้อยลง เมื่อมีอาชีพ หรือมีงานในท้องถิ่น การย้ายถิ่นฐาน การไปหางานทำในเมือง หรือปัญหาครอบครัว และสังคมอื่นๆ ก็จะลดน้อยลงอีกด้วย ซึ่ง ปตท.สผ.พร้อมจะให้การสนับสนุนชุมชน และสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไป” นายประพนธ์ กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ โครงการ ธนาคารปูม้าของภาครัฐได้ดำเนินการแล้วทั้งหมดกว่า 190 แห่ง ใน 20 จังหวัด จังหวัดชายทะเลของทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด ซึ่งในชุมชนที่ได้ดำเนินการแล้วปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับปูม้า และยังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทางด้านสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม เกิดความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาทางทะเล คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat