นอภ.แม่อาย เร่งประชุมหลังพบสารหนูปนเปื้อนน้ำกกเกินมาตรฐานกว่าเท่าตัว

นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ เร่งประชุม 8 เม.ย.นี้ หลังพบสารหนูปนเปื้อนน้ำกกเกินมาตรฐานกว่าเท่าตัว เชื่อเป็นผลจากการการขุดเหมืองทองในรัฐฉาน ผอ.สคพ.เตือนอันตรายจากการเล่นน้ำ
วันนี้ (5 เม.ย. 68) ความคืบหน้า กรณีนายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) ที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยผลการตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก ซึ่งได้เก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจ ผลการตรวจไม่พบไซยาไนด์ เพราะปกติออกมาตามธรรมชาติเมื่อเจอแดดและความร้อนก็จะสลายตัว แต่ตรวจพบสารหนู ซึ่งปกติอยู่กับแร่ทองคำ หรือเรียกว่าเพื่อนแร่ สคพ.ได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จุดแรกห่างจากชายแดนพม่า (ที่บ้านแก่งทรายมูล ต.ท่าตอน) เพียง 500 เมตร โดยพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน 2 เท่า ซึ่งปกติค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่พบค่าสารหนู มากถึง 0.026
นายอาวีระกล่าวว่า จุดตรวจถัดมาอยู่บริเวณแถวสะพานท่าตอน และอีกจุดท้ายน้ำลงไป ก็พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด
“หากเราสัมผัสที่มีสารหนู เช่น เมื่อก่อนทางใต้เป็นมีโรคไข้ดำ หากมีการสัมผัสต่อเนื่องอาจเกิดความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดมะเร็งได้ หากกินเข้าไปอาจก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษ และร่างกายผิดปกติ” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานกาณ์เช่นนี้จะประกาศสภาวะเช่นไรให้ประชาชนเข้าใจ นายออาวีระกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าได้เชิญผู้บริหารมาร่วมประชุมเพื่อแจ้งเตือน และสื่อสารไปยังผู้นำชุมชน สำหรับประชาชนที่จะลงเล่นน้ำในแม่น้ำกก หากหลีกเลี่ยงได้ควรรีบลงรีบขึ้น หากใครมีบาดแผลก็ต้องระวังมากกว่าปกติ สำหรับประปาหมู่บ้าน หรือการนำน้ำกกเข้าไปใช้ในพื้นที่การเกษตร ต้องระมัดระวัง
“การประปา ต้องดูกระบวนการผลิตให้เข้มข้นเนื่องจากสารเหล่านี้อยู่ในอาหารจำพวกสัตว์น้ำได้ คงต้องมีมาตรการตรวจสอบว่าเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารหรือไม่ อย่างไร” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกรณีความกังวลในเมืองเชียงราย ซึ่งใช้แม่น้ำกกเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นายอาวีระกล่าวว่าได้เก็บตัวอย่างน้ำของเชียงรายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผลตรวจน่าจะออกมาภายใน 1-2 วันนี้ แต่ตัวสารหนูมีน้ำหนัก สามารถตกตะกอนและจมลงได้ หากมีผลกระทบที่เชียงรายก็อาจน้อย แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท หากคนลงเล่นน้ำก็พยายามหลีกเลี่ยงการกลืนหรือกิน หากรู้สึกว่ามีอาการแสบก็รีบไปพบแพทย์
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภายโดยชุมชน ( Community Health Impact Assessment Platform หรือ CHIA Platform) ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษข้ามพรมแดน กล่าวว่าจากการติดตามข้อมูลการทำเหมืองทองที่ต้นแม่น้ำกก การตรวจพบสารหนูในแม่น้ำกกครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องเกินคาด ที่สำคัญหลังจากนี้ต้องตรวจสารปรอท โดยจับปลานักล่าในแม่น้ำกกมาตรวจการสะสมของสารปรอท ซึ่งหากมีการตรวจพบก็ต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสารปรอทจะพัดพาไปได้ไกลขนาดไหน น.ส.สมพรกล่าวว่าต้องดูระบบนิเวศลำน้ำกก ซึ่งควรเก็บตัวอย่างตะกอนดินในลำน้ำกกตลอดลำน้ำจนถึงเมืองเชียงราย และดูความเข้มข้นในพื้นที่ต่างๆ
“ในขณะที่เรายังจัดการแหล่งกำเนินมลพิษไม่ได้ เราก็ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบและป้องกัน” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
พ.ท.บุญโรจน์ กองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เชื่อว่าสาเหตุที่มีสารหนูในน้ำกกน่าจะมีสาเหตุมาจากเหมืองทอง เพราะไม่เช่นนั้นจู่ๆแม่น้ำกกคงไม่มีสารหนูเกิดขึ้นเอง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องดูว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของใคร และเชื่อว่าต้องให้ผู้นำระดับรัฐบาลเป็นผู้เจรจากับเขา เพราะลำพังระดับท้องที่และท้องถิ่น เขาคงไม่ฟัง อย่างไรก็ตามชาวบ้านและองค์กรปกครองท้องถิ่นคงไม่อยู่เฉย โดยในเร็วๆนี้จะต้องมีการรณรงค์ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขด่วน เพราะเราเรียกร้องอะไรคงก็ไม่ค่อยมีผล ขนาดกรณีของไฟป่าที่ไหม้มาจากฝั่งเพื่อนบ้านก็ยังไม่ได้รับความสนใจ
“เมื่อก่อนเราทำป้ายเตือนแต่เรื่องน้ำลึกและเขตอันตรายในแม่น้ำกก แต่เดี๋ยวคงต้องเตือนสารปนเปื้อนด้วย ตอนนี้กำลังรอฟังความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ให้เราปฎิบัติอย่างไร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบหลายด้าน ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเล่นน้ำแล้วยิ่งพอทราบผลการตรวจเช่นนี้คงจบกัน เพราะนอกจากมีสารปนเปื้อนแล้ว เขายังแจ้งเตือนเรื่องพิษของสารเหล่านี้ด้วย เดิมทีพวกเราในอบต.คิดว่า หากตรวจไม่พบอะไรก็จะพากันลงเล่นน้ำกกให้เป็นตัวอย่าง แต่พอผลออกมาเช่นนี้ แม้ผมที่เป็นนายก อบต.ก็ยังไม่กล้าลงน้ำเลย” นายก อบต.ท่าตอน กล่าว
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากชาวบ้านที่ทำงานอยู่ใกล้แหล่งขุดทองในฝั่งรัฐฉานซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก โดยชาวบ้านได้ถ่ายภาพเหมืองทองขนาดเล็กที่กองกำลังทหารว้า(United Wa State Army-UWSA)ได้อนุญาตให้นักธุรกิจเข้ามาขุดเหมืองเพื่อหาทอง ซึ่งมีการเปิดหน้าดินในบริเวณกว้าง และมีการปล่อยน้ำลงแม่น้ำกก ทำให้แม่น้ำกกตอนล่างที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยขุ่นข้นและมีสารหนูเจือปน
จากรายงานที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำกรณีแม่น้ำกกมีสีขุ่นผิดปกติ อ.แม่อาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ระบุว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในแม่น้ำกก 3 จุด เพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิดดิน ตรวจวัดโลหะหนักพร้อมด้วยไซยาไนด์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 โดยผลพบว่าแม่น้ำกกอยู่ในเกณฑ์ “เสื่อมโทรม” ทั้ง 3 จุด โดยพบพารามิเตอร์ที่มีค่าเกินมาตรฐานได้แก่
1.โลหะหนัก พบตะกั่ว(Pd)เกินมาตรฐานในจุดที่1 (ชายแดนไทย-พม่า หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม) และสารหนู(As) เกินมาตรฐานทั้ง 3 จุด
2.พารามิเตอร์ที่เกินมาตรฐานส่งผลต่อคุณภาพน้ำผิวดิน ได้แก่ ความสกปรกในรูปสารอินทรีย์(BOD) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด(TCB) ฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย(FCB) เกินมาตรฐานทั้ง 3 จุด และแอมโมเนีย(NH3) เกินมาตรฐานในจุดที่ 3 (บ้านผาใต้)
3.ค่าความขุ่นสูงในจุดที่ 1 ที่ติดชายแดนไทย-พม่าคือ 988 NTU ซึ่งแหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าเกิน 100 NTU เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
ทั้งนี้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้มีข้อเสนอระยะสั้นคือ 1.สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบแม่น้ำกกจากผลกระทบต่อคุณภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเล่นน้ำ การบริโภคสัตว์น้ำ การสังเกตและตรวจระบบประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค
2.จัดตั้งคณะทำงานในการพัฒนาแผนหรือมาตรฐานในการปรับปรุงแก้ไขและลดระดับความขุ่นและสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก แสวงหาข้อเท็จจริงและข้อมูลเพิ่มเติม จัดทำแนวในการดูแลรักษาระบบประปาอุปโภคบริโภคน้ำ ตามบทบาทหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งว่า การตรวจวัดไซยาไนด์และโลหะหนัก 10 ชนิดในแม่น้ำกก อาทิ แคดเมียม นิกเกิล สังกะสี ปรอท สารหนู เหล็ก พบว่าไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่โลหะหนัก 2 ชนิด พารามิเตอร์เกินมาตรฐาน โดยตะกั่วบริเวณจุดที่ 1 มีค่า 0.076 mg/L โดยในแหล่งน้ำมักพบตะกั่วในปริมาณน้อย การปนเปื้อนตะกั่วมักมีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน จากเหมืองแร่ และจากน้ำฝนที่ชะล้างสารตะกั่วจากอาการและพื้นดินสู่แหล่งน้ำ
สำหรับสารหนู(As) พบทั้ง 3 จุด มีค่าเกินมาตรฐานน้ำผิวดิน โดยมีค่า 0.026 ,0.012 และ 0.013 mg/L ตามลำดับ (จากค่ามาตรฐาน 0.01)โดยสารหนูในน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำบาดาลซึ่งเกิดจากการละลายของแร่ธาตุในน้ำ รวมถึงน้ำทิ้งจากโรงงานที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์
ทั้งนี้ในรายงานชิ้นนี้ได้ระบุว่า ตะกั่วเป็นโลหะหนักที่มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางอาหารและน้ำ ทางลมหายใจ และทางผิวหนัง พิษจากตะกั่วทำให้ร่างกายมีความผิดปกติต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางประสาทและกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คลุ้มคลั่ง เกิดความคิดสับสน ปวดศรีษะ ถ้าได้รับปริมาณมาก อาจชักและตายได้ ร่างกายสามารถขับถ่ายตะกั่วออกมาได้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจะสะสมอยู่ในร่างกายที่ตับ ไต เลือด และเซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายได้ในภายหลัง ในแหล่งน้ำมักพบตะกั่วในปริมาณน้อย การปนเปื้อนของตะกั่วในแหล่งน้ำ มักมีสาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน จากเหมืองแร่ และจากน้ำฝนที่ชะล้างสารตะกั่วจากอากาศและพื้นดินลงสู่แหล่งน้ำ
สำหรับสารหนูมีความเป็นพิษอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดมะเร็ง เมื่อเข้าในร่างกายโดยการกินและการหายใจจะทำลานระบบทางเดินอาหารและส่วนอื่นๆของร่างกาย และอาจตายในที่สุด จึงนิยมใช้เป็นยาเบื่อหนูและเป็นที่มาจากชื่อสารหนู ผู้ที่บริโภคนำสารหนูเข้าไปเพียง 100 มก.สามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต และยังสามารถสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นในน้ำดื่มจึงไม่ควรมีสารหนูเกิน 0.05 มก/ลิตร สารหนู่สามารถพบได้ในน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำบาดาลซึ่งเกิดจากการละลายของแร่ธาตุในน้ำ และน้ำทิ้งจากโรงงานที่มียากกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์
นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจพบสารหนูปนเปื้นในแม่น้ำกก บริเวณ ต.ท่าตอน ซึ่งไหลเข้ามาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เกินมาตรฐาน ว่าเบื้องต้นได้ประสานกับทางจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ โดยขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อมฯ แจ้งผลเป็นทางการมาถึงในเย็นวันเดียวกันนี้ เพื่อขอให้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบข้อมูลในการปฎิบัติตนและการเฝ้าระวัง และให้ อสม.และสาธารณสุขทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของสุขภาพถึงผลกระทบที่เกิดจากสารหนู
นางสลีลญากล่าวว่า ในวันที่ 8 เมษายน จะมีการประชุมใหญ่ระดับจังหวัดเพื่อเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ โดยเบื้องต้นทางอำเภอจะเร่งประชาสัมพันธ์เรื่องข้อมูลต่างๆให้ชาวบ้านได้ดูแลเรื่องของสุขภาพ เบื้องต้นเราจะเอาข้อมูลที่จังหวัดส่งมาแจ้งให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบเพื่อระวังในเรื่องของการเล่นน้ำหรือการทำกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำกก
“เรื่องของการเล่นน้ำ อาจมีผลกระทบต่อร่างกายเพราะอาจเป็นผื่นแพ้ และขอให้งดในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคเพราะมีสารปนเปื้อน” นายอำเภอแม่อาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องที่มีการน้ำดิบในแม่น้ำกกทำน้ำประปา นายอำเภอกล่าวว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ใช้ประปาท้องถิ่นแต่ใช้ประปาภูเขา และใช้น้ำจากแม่น้ำฝาง ส่วนประปาภูมิภาคก็มีการเชิญร่วมประชุมในวันที่ 8 เมษายนด้วยเช่นกันซึ่งคงได้หารือกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว