ENVIRONMENT

อุดรธานี เร่งแก้ “จอกหูหนูยักษ์” ล้นทะเลบัวแดง พบ พื้นที่หนองหาน-กุมภวาปี มีอยู่กว่า 2 ล้านตัน

วันนี้ (5 ก.พ. 65) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด หลังได้รับรายงานว่า “หนองหาน-กุมภวาปี” หรือ “ทะเลบัวแดง” มีวัชพืชลอยน้ำโดยเฉพาะจอกหูหนูยักษ์ เติบโตขยายพันธุ์ปิดกั้นเส้นทางเข้าออกเรือท่องเที่ยว และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ชลประทาน และอำเภอกุมภวาปี นำแรงงานคนและเครื่องจักรร่วมกันเก็บจอกหูหนูยักษ์ขึ้นจากแหล่งน้ำ เพื่อเปิดเส้นทางเข้าออกของเรือท่องเที่ยว โดยนำไปใช้ทำปุ๋ยหรือวัสดุปลูก แต่ก็ยังไม่หมด เนื่องจากเป็นพืชที่กระจายตัวได้เร็ว หากเก็บแล้วไม่ควบคุมให้ดีหรือไม่เก็บต่อเนื่อง ก็จะขยายพันธุ์เพิ่มอีกมาก

ข้อมูลจากฝายกุมภวาปี พบว่า พื้นที่หนองหาน-กุมภวาปี จำนวน 22,000 ไร่ มีปริมาณวัชพืชจอกหูหนูยักษ์อยู่กว่า 2 ล้านตัน ทุกฝ่ายทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะไม่มีเรือเก็บวัชพืช ส่งผลกระทบออย่างมากโดยเฉพาะช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว เนื่องจากลมจากทิศเหนือจะพัดพาวัชพืชเข้ามาปกคลุมพื้นที่ท่าเรือ จำเป็นต้องระดมจิตอาสา ชาวเรือ และขอความอนุเคราะห์หน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุนแก้ไขทุกปี แต่การเก็บวัชพืชในละปีสามารถเก็บได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะเก็บได้เฉพาะใกล้ตลิ่ง โดยใช้เรือท่องเที่ยวดันเข้าฝั่ง ก่อนจะใช้แบ็กโฮขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตักขึ้นมา

จอกหูหนูยักษ์เป็นพืชประเภทลอยน้ำ ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง มีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพคือ การแตกยอดจากใกล้ซอกใบของต้นเดิม และสามารถแตกออกไปได้เรื่อยๆ ลำต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดไปก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่งหรือกระแสน้ำไม่แรงนัก ในสภาพที่เหมาะสมจอกหูหนูยักษ์สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าใน 2-4 วัน แต่เพิ่มมากเป็น 2 เท่าใน 7-10 วัน จากหนึ่งต้นสามารถเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ในเวลา 3 เดือน น้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ใกล้เคียงกับผักตบชวา

จอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นหนาแน่น ทำให้แสงแดดส่องไปยังพื้นน้ำเบื้องล่างไม่ได้ เป็นการลดการเติมออกซิเจนลงในแหล่งน้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นตายได้ ส่วนการทับถมของซากพืชจอกหูหนูยักษ์ลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้แหล่งน้ำตื้นและเขิน พืชไม้น้ำเดิมหายไป สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย พืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชเข้ามาแทนที่ ในที่สุด แหล่งน้ำนั้นก็จะเปลี่ยนไปและพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ก็จะหายไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend