ENVIRONMENT

“Sea You Strong: หยุด bully ทะเล” กิจกรรมว่ายน้ำข้าม 3 จังหวัดอันดามัน กระตุ้นอนุรักษ์ทะเล

นายสิรณัฐ สก็อต หรือ ทราย นักอนุรักษ์ท้องทะเล และประธานโครงการ “Sea You Strong” องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (Non-Governmental Organization: NGO) ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเล ร่วมกับอาสาสมัครอีก 36 ท่าน จัดกิจกรรม “Sea You Strong: หยุด bully ทะเล” เพื่อรณรงค์และอนุรักษ์ท้องทะเล โดยการงดทิ้งขยะลงทะเล ด้วยการว่ายน้ำระยะทาง 70 กิโลเมตร ข้ามทะเลอันดามัน จากจังหวัดกระบี่ ไปจังหวัดพังงา และสิ้นสุดที่จังหวัดภูเก็ต ในระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะ ณ แหลมหาดเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา และร่วมว่ายน้ำเพื่อรณรงค์ในครั้งนี้

นายสิรณัฐ สก็อต ประธานโครงการ “Sea You Strong” เปิดเผยกับ The Reporters เกี่ยวกับการจัดกิจกรรม “Sea You Strong: หยุด bully ทะเล” ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ในการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ และคนที่อยู่ในพื้นที่ทะเลอันดามันโดยรอบ ตระหนักถึงการทิ้งขยะในทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล โดยโครงการ Sea You Strong ต้องการชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่ควรต้องได้รับการจัดการอย่างทันท่วงที อาทิ 1.มลพิษจากพลาสติกที่สัตว์ทะเล คิดว่าเป็นอาหาร ทำให้กิน หรือโดนรัดพันจากพลาสติกจนตาย 2.ไมโครพลาสติก อนุภาคขนาดเล็กจากขยะพลาสติก ที่แทรกซึมในห่วงโซ่อาหาร จนเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ทะเล และส่งผลกระทบถึงมนุษย์ 3.ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมอยู่ในอาหารทะเล เกลือ และแม้แต่น้ำประปา ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง รวมถึงการต่อยอด การจัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวในอนาคต ไว้น่าสนใจ

นายสิรณัฐ กล่าวว่า “งานครั้งนี้เป็นงานที่แตกต่างจากงานอื่นๆ โดยภารกิจนี้ไม่มีจุดประสงค์ในการรับเงินบริจาค แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนได้ร่วมพัฒนาจิตวิญญาณของการอนุรักษ์ทะเล และแรงบันดาลใจในการร่วมกันสร้างอนาคต ที่ยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ทีมงาน Sea You Strong นี้เป็นทีมงานเล็กๆ แต่กิจกรรมของเราประสบความสำเร็จในทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการทำความสะอาดชายหาด หน้าผา และแหล่งน้ำต่างๆ ตลอดจนการช่วยกำจัดขยะทุกประเภท โดยเฉพาะมลพิษจากพลาสติก”

“การอนุรักษ์มหาสมุทรมีความสำคัญ ต่ออนาคตของโลกเรา เพราะมหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยมหาสมุทรยังควบคุมสภาพอากาศ ด้วยการดูดซับและกระจายความร้อน อีกทั้งยังผลิตออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญ สำหรับสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆที่หลากหลาย”

“สำหรับที่มาของกิจกรรม “Sea You Strong: หยุด bully ทะเล” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน จากที่ผมยืนเก็บขยะบนชายหาด เหนือบริเวณคลองในจังหวัดกระบี่ และตั้งแต่นั้นมาผมก็ได้ร่วมงานกับทั้ง 3 จังหวัดที่ผมรักอย่างสม่ำเสมอ ผมอยากให้ทุกคนภูมิใจกับงานนี้ และให้โอกาสประเทศไทยได้เห็นและสัมผัสถึงจิตวิญญาณ ของการอนุรักษ์มหาสมุทร ผ่านการเปรียบเทียบความเหมือนของการว่ายน้ำของมนุษย์ และการอพยพข้ามทะเลของสัตว์ทะเล พูดง่ายๆว่าหากท้องทะเลเต็มไปด้วยขยะจำนวนมาก ก็จะส่งผลกระทบสัตว์ทะเล ที่ไม่สามารถหนีออกจากทะเลได้ ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่ว่ายน้ำ และหากรู้สึกแสบที่ผิวตามร่างกาย จากมลพิษในทะเลก็สามารถขึ้นบนบกได้ จึงเกิดเป็นกิจกรรมรณรงค์ ด้วยการว่ายน้ำข้ามทะเลอันดามันดังกล่าว ที่ประกอบด้วยด้วย 3 จังหวัด โดยเริ่มจากจังหวัดกระบี่ ไปจังหวัดพังงา และสิ้นสุดที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้”

“จุดประสงค์หลักของการรณรงค์ในกิจกรรมนี้ นอกจากการกระตุ้นให้คนไทยเข้าใจว่า ยังมีปัญหาเกิดขึ้นกับท้องทะเลและสัตว์ทะเล ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ข้างต้นแล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากขยะพลาสติก (ขวดน้ำดื่ม,ถุงพลาสติก,กล่องโฟม,ก้นบุหรี่ ช้อนซ้อมมีดจานพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม ฯลฯ หรือเศษชิ้นส่วนในการประกอบอาชีพประมงทางทะเล อาทิ ซากชิ้นส่วนของอวนจับปลา ที่กระทบต่อประการัง รวมถึงสัตว์น้อยใหญ่ใต้ทะเล ยังรวมถึงการกระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ และคนที่อาศัยอยู่ในทะเลอันดามัน หรือแม้แต่ในชาวต่างชาติ เห็นถึงความสำคัญของการช่วยกันอนุรักษ์ทะเล โดยการไม่ทิ้งขยะพลาสติกในทะเล”

“หากพูดถึงการรีไซเคิ้ลขยะจากท้องทะเลนั้น อันที่จริงแล้วขยะพลาสติก สามารถนำไปรีไซเคิ้ลเป็นของใช้ต่างๆ ได้เพียง 4 รอบ ซึ่งหากมากกว่านั้นคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ก็จะมีสภาพที่แย่ลงกว่าเดิม และหลังจากนั้นขยะพลาสติก ก็จะกลับไปอยู่ที่หลุมฝังกลบเหมือนเดิม ดังนั้นถ้าจะให้ดีที่สุด คือการรณรงค์อย่างไร เพื่อให้คนรุ่นใหม่ใช้ขวดน้ำที่เป็นขวดแก้ว แทนขวดน้ำพลาสติกก็จะดีที่สุด ดังนั้นโจทย์ของการอนุรักษ์ในครั้งนี้ คือการคัดแยกขยะก่อนทิ้งให้ถูกที่ และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ซึ่งไม่ได้ทำจากพลาสติก ตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก ในการรณรงค์อนุรักษ์ท้องทะเลไทย และเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ที่สำคัญคนไทยต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะถ้าสังเกตนั้นนักท่องเที่ยวที่มาบ้านเรา จะทิ้งขยะพลาสติกมากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นชาวต่างชาติจึงมองคนไทยเป็นตัวอย่าง ดังนั้นถ้าเราต้องการให้นักท่องเที่ยวเคารพทรัพยากรในบ้านเราอย่างไร เราก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา เพราะทะเลเป็นพื้นที่เราหวงแหน จึงต้องช่วยกันดูแล”

“ส่วนการต่อยอดกิจกรรม “Sea You Strong: หยุด bully ทะเล” ไปสู่อนาคตนั้น คาดว่าจะมีการเปิดอบรมนักว่ายน้ำเพื่อช่วยกันเก็บขยะในทะเล และให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ท้องทะเล ผสมผสานเข้ากับงานจิตอาสาในชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลอันดามัน ส่วนหนึ่งเพื่อให้คนในพื้นที่มีอาชีพ และได้อยู่อาศัยในท้องทะเลที่มีน้ำสวยสะอาด มีธรรมชาติที่สวยงามไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยปราศจากขยะพลาสติก จากการที่ทุกคนคอยเป็นหูเป็นตา ในการช่วยกันอนุรักษ์ทะล นอกจากนี้ก็คาดว่าจะสอนให้เด็กๆในโรงเรียน มีความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางทะเล ที่หลายคนมองข้าม”

“เช่น การที่ประการังที่เรามองว่าสวยงาม แต่แท้จริงแล้วอาจมีเศษพลาสติก จากอวนตักปลา ติดพันอยู่ที่ประการังใต้น้ำอยู่เป็นจำนวนมาก และสุดท้ายแล้วเศษพลาติกเล็กๆเหล่านี้ ก็จะไปติดอยู่ในตัวสัตว์ทะเล และมนุษย์ก็บริโภคสัตว์น้ำทะเล ที่มีมลพิษเหล่านี้ติดอยู่โดยไม่รู้ตัว เพื่อให้น้องๆมีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติก หรือทิ้งขยะพลาสติกให้เป็นที่เป็นทาง ทั้งนี้รูปแบบการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ ต้องการความช่วยเหลือครับ เนื่องจากจุดประสงค์หลักในครั้ง เราต้องสะท้อนถึงการที่สัตว์น้ำถูกคุกคาม โดยรณรงค์การไม่ทิ้งขยะพลาสติก ลงในท้องทะเล เพราะอันที่จริงแล้วทะเลมีมูลค่ามหาศาล ทั้งต่อสัตว์น้ำและผู้อยู่อาศัย เพราะทะเลคือหัวใจของคนไทยครับ”

ด้าน นายศิริโชค ห่อสมบัติ เจ้าของธุรกิจอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย และอาสาสมัครว่ายน้ำ กล่าวว่า “ผมเป็นนักว่ายน้ำเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งเคยทำกิจกรรมว่ายน้ำเก็บขยะ ที่ จ.ภูเก็ตมาแล้ว และพบกับคุณทรายเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากอยู่ในสมาคมนักว่ายน้ำด้วยกัน จึงมาร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นกิจกรรมที่ท้าทาย และยังไม่เคยมีใครจัดมาก่อนในบ้านเรา นอกจากกลุ่มประเทศแถบยุโรป ซึ่งการว่ายน้ำเพื่อรณรงค์เป็นระยะทาง 70 กิโลเมตร ถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งการว่ายน้ำเป็นเวลา 2 วันนั้น ก็สำเร็จลุล่วงไปตามคาด ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องฟ้าฝนช่วงตอนเย็นอยู่บ้าง แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี ที่สำคัญผมมองว่าคุณทราย ใช้การว่ายน้ำมาธารอน เพื่อเชื่อมโยงกับท้องทะเล ที่เต็มไปด้วยขยะ รวมถึงเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ก็ยังมีขยะ ที่สุดท้ายแล้วขยะพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และวนกลับมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ไมโครพลาสติก ที่มาจากเศษเชือกผูกอวนดักปลาที่จมอยู่ในทะเล ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะยังไม่มีใครทำการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในทะเล ในรูปแบบดังกล่าวมาก่อน”

“สิ่งที่อยากเห็นต่อจากกิจกรรมที่จัดในครั้งนี้ ผมมองว่าการเก็บขยะ หรือเศษซากอวนเป็นส่วนของการรณรงค์ที่ปลายทาง แต่สิ่งที่ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง หรือสิ่งที่เป็นต้นทาง คือการที่คุณทรายว่ายน้ำข้ามทะเล ด้วยการเสี่ยงอันตราย เนื่องจากมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล อีกทั้งเป็นที่แรกในอาเซียน ดังนั้นข่าวสารที่เกิดจากกิจกรรมนี้ ผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการตื่นตัว หรือตอบรับโดยไม่ทิ้งขยะในทะเล เพราะไม่อยากทำร้ายทะเล หรืออย่างน้อยๆทุกคน ก็จะทิ้งขยะให้เป็นที่มากขึ้นครับ”

ขณะที่ ชุติกานต์ สิริแสง นักว่ายน้ำจิตอาสา เล่าว่า “จากการร่วมว่ายน้ำตลอด 2 วัน และหยุดพักเก็บขยะที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงานั้น เราพบขยะจำนวนมากที่ถูกทิ้งไม่เป็นที่ อีกทั้งเวลาที่ถูกน้ำซัดขยะเหล่านี้ก็จะไหลลงไปในทะเล ซึ่งไม่เพียงทำให้สัตว์ทะลตาย แต่บางครั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงไปถึงมนุษย์ ที่บริโภคสัตว์น้ำทะเล ที่กินเศษไมโครพลาสติก จากขยะพลาสติกเข้าไปอีกด้วย และจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก็อยากรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ มีจิตสำนึกในการทิ้งขยะให้เป็นที่ และอยากให้คุณทรายเป็นตัวอย่าง ในการอนุรักษ์ทะเล ที่ถือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่สวยงามคงเดิม และสิ่งที่อยากเห็นจากการต่อยอดของกิจกรรมนี้ คือการที่เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัว กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการทิ้งขยะให้เป็นที่ และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่นั้นก็ให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้อยู่แล้ว ขอเพียงแค่ให้เริ่มที่ตัวเอง ด้วยการไม่ทิ้งขยะลงทะเล หรือ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกให้น้อยที่สุดค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend