‘ครูตี๋’ อยากเห็นรัฐบาลที่คิดใหม่เรื่องพลังงาน หยุดรวมศูนย์เอื้อกลุ่มทุน
‘ครูตี๋’ อยากเห็นรัฐบาลที่คิดใหม่เรื่องพลังงาน หยุดรวมศูนย์เอื้อกลุ่มทุน มุ่งหารือเพื่อนบ้านแก้ฝุ่น-น้ำโขง เผยรอผู้ตรวจการแผ่นดินตอบรับลงเชียงราย สอบผลกระทบน้ำเท้อจากเขื่อนข้ามพรมแดน
‘ครูตี๋’ อยากเห็นรัฐบาลที่คิดใหม่เรื่องพลังงาน หยุดรวมศูนย์เอื้อกลุ่มทุน มุ่งหารือเพื่อนบ้านแก้ฝุ่น-น้ำโขง เผยรอผู้ตรวจการแผ่นดินตอบรับลงเชียงราย สอบผลกระทบน้ำเท้อจากเขื่อนข้ามพรมแดน
วันนี้ (4 ก.พ. 66) ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้อำนวยการโฮงเฮียนแม่น้ำของ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize คุยกับ The Reporters ถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นมา ซึ่งเป็นฤดูการเกิดไก หรือสาหร่ายน้ำจืด บนโขดหินบริเวณน้ำตื้น
ครูตี๋ เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีความผันผวน จากการเปิด-ปิดประตูเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนอยู่บ่อยครั้ง โดยในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ขณะที่ไกกำลังเกิดตามฤดู แต่ระดับน้ำกลับยกขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงขึ้นถึงประมาณ 24-25 เซนติเมตร จนทำให้ไกหลุดหายและจมลึก ชาวบ้านไม่สามารถเก็บได้อีกต่อไป
นอกจากปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนตลอดทั้งปีแล้ว ครูตี๋ ยังชี้ให้เห็นถึงมลพิษอีกหนึ่งประเภทที่มักเกิดขึ้นตามฤดูกาลอย่าง หมอกควัน ที่ขณะให้สัมภาษณ์ก็กำลังปกคลุมอากาศอย่างเห็นได้ชัด ทั้งฝั่งอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว
“ไม่ว่าที่ไหน ๆ เราจะเห็นสถานการณ์หมอกควัน ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเรา หรือคนที่ใดที่หนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว มันเป็นปัญหาที่จะต้องพูดคุยกันไม่ว่าจะในเมือง นอกเมือง ในป่า หรือคนละประเทศ … ไม่รู้เป็นอากาศของเราไปฝั่งนู้น หรือทางนู้นมาทางเราแล้ว มันคลุมไปหมดแล้วตอนนี้ นี่คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าคุณจะแบ่งโลกนี้เป็นส่วน ๆ อันนั้นของฉัน อันนี้ของเธอ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แล้ว แม่น้ำโขงเป็นปัญหาใหญ่ก็เพราะเรื่องแบบนี้” เจ้าของรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลกในปี 2022 กล่าว
เมื่อย้อนกลับมาพูดคุยถึงปัจจัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ อย่างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายประธานในปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากที่มีอยู่ต้นน้ำกว่า 11 แห่ง ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ในประเทศลาว อย่างเขื่อนปากแบง ซึ่งห่างจากชายแดนไทยที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ลงไปเพียง 97 กิโลเมตร
ครูตี๋ มองว่าโครงการดังกล่าว จะมีผลกระทบรุนแรงต่อชาวเชียงราย โดยเฉพาะในพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เนื่องจากสันเขื่อนดังกล่าวในลาว มีความสูงประมาณ 340 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้มวลน้ำเหนือเขื่อนจะยกระดับเท้อขึ้นมาข้ามพรมแดน ในเขตอำเภอเวียงแก่น เขตอำเภอเชียงของ ไปจนถึงเขตอำเภอเชียงแสน โดยยังไม่มีการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม (EIA) ข้ามพรมแดน
เป้าหมายหลักของการสร้างเขื่อนปากแบง คือการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับรัฐบาลไทย ครูตี๋ เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการดังกล่าวว่า ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอาจลงนามในวันไหนก็ได้ ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลผลกระทบอย่างเพียงพอ
“สิ่งนี้มีความเสี่ยงมาก วันดีคืนดี เขาเซ็นปั๊บ แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน เกิดขึ้นกับแม่น้ำ ใครจะรับผิดชอบ ? … อันนี้เหมือนหลับหูหลับตา มันเหมือนผลประโยชน์ ไม่สนว่าจะเกิดอะไรขึ้น … นี่คือสิ่งที่ไม่ช่วยชาวบ้าน แต่กลับซ้ำเติม ใช้ทรัพยากรเพื่อความร่ำรวยของกลุ่มของพวกคุณ กลุ่มทุนน่ะ เรื่องพลังงานเรากล้าพูดอย่างนี้ได้ … เขื่อนไม่ใช่เรื่องพลังงาน แต่เขื่อนเป็นเรื่องเงิน”
ครูตี๋ จึงเปิดเผยความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มรักษ์เชียงของบ้าง ว่ามีการส่งหนังสือเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 30 ม.ค. 66 ให้ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเขตแดนระหว่างไทยและลาว และผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนในพื้นที่ กรณีซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง และขอเรียนเชิญให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อปกป้องและพิทักษ์สิทธิของประชาชนไทย ในฐานะหน่วยงานของรัฐ และขอให้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไทย ระบบนิเวศแม่น้ำฑขง และบูรณภาพแห่งดินแดนไทย
สุดท้าย ครูตี๋ ฝากถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศนี้ จะต้องมองเรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมืองและโลกนี้ได้แล้ว รัฐบาลต้องคิดใหม่เรื่องพลังงาน ที่ผ่านมาพวกนี้ยังคิดแบบเดิม ๆ
“การรวมศูนย์พลังงานมันมั่นคงอย่างไร การรวมศูนย์พลังงานให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต้องกระจายผ่านพลังงานทางเลือก นี่คือสำคัญ”