ENVIRONMENT

กรมประมงไม่นิ่งนอนใจ เผยมาตรการอนุรักษ์ปลาทูไทย ยอมถอยคนละก้าวเพื่ออนาคต

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกระแสความเป็นห่วงเกี่ยวกับการหายไปของ “ปลาทูไทย” ว่า เป็นความจริงที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนปลาทู “ในอ่าวไทย” ลดลงอย่างมาก ซึ่งทางกรมประมง ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน เพื่อที่จะหามาตรการที่จะควบคุมการทำประมง เพื่อทำให้ “ปลาทูในอ่าวไทย” มีจำนวนมากขึ้น และได้เพิ่มมาตรการต่างๆ นอกเหนือจากการ “ปิดอ่าว” ในพื้นที่ประจวบฯ ชุมพร และสุราษธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ที่มีอยู่เดิมทุกปี ได้แก่

  •  การควบคุมการทำการประมงที่มีโอกาสที่จับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนที่จะมีการวางไข่ โดยการกำหนดขนาดตาอวนติดตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลา “ปิดอ่าว”
  • การควบคุมการทำประมงที่มีโอกาสจับลูกปลาทูที่พึ่งเจริญเติบโต โดยการกำหนดเขตห้ามทำการประมงในพื้นที่ประมาณ 7 ไมล์ทะเล นับจากเขตชายฝั่ง ต่อจากระยะเวลาที่ปิดอ่าวออกไปอีก 1 เดือน ในพื้นที่ “ปิดอ่าว” เดิม
  • เพิ่มพื้นที่ในการห้ามทำการประมงให้เกิดความเชื่อมต่อกับระหว่างการ “ปิดอ่าวตอนกลาง” และ “ปิดอ่าวตอนใน”
  • ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาและพื้นที่ในการ “ปิดอ่าวตอนใน” ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง “ปลาทูโตเต็มวัย” ก่อนที่จะกลับมาวางไข่

“มาตรการต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากความร่วมมือของ กรมประมง และชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ที่ต่างถอยกันคนละก้าวเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับ “ทรัพยากรปลาทู” และ “ชาวประมง” และถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้การจับลูกปลาขนาดเล็กหมดสิ้นไปเลย เพราะทุกภาคส่วนต่างยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง แต่ผลจากการใช้มาตรการ ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการพบเห็นปลาทูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากมาตรการต่างๆ เหล่านี้แล้วทุกคนในสังคมยังสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้ง่ายๆ ด้วยการไม่บริโภคปลาที่มีไข่ หรือปลาตัวเล็กๆ เพื่อปล่อยให้ปลาเหล่านี้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า” อธิบดีกรมประมง กล่าว

ภาพประกอบ: กรมประมง

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend

Thailand Web Stat