น้ำท่วม ‘มูโนะ’ นราธิวาสหนักสุดในรอบกว่า 20 ปี กัณวีร์ ชี้ รัฐต้องรับผิดชอบ
น้ำท่วม ‘มูโนะ’ นราธิวาสหนักสุดในรอบกว่า 20 ปี กำแพงกั้นน้ำชลประทานพัง บ้านประชาชนพังกว่า 15 หลัง กัณวีร์-อาร์ฟาน พรรคเป็นธรรม ชี้รัฐต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการจัดการภัยพิบัติ
วันนี้ (23 ธ.ค. 65) นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์ และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะที่บ้านมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2565 กำแพงกั้นน้ำตลาดมูโนะพัง ทำให้น้ำเข้าท่วมตลาดมูโนะ และบ้านเรือนประชาชนโดยรอบอย่างหนัก และต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม พนังกั้นน้ำชลประทานได้พังลงทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้กระแสน้ำซัดเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน จนส่งผลให้บ้านพังทั้งหลัง 5 หลัง พังบางส่วนกว่า 10 หลัง และท่วมบ้านเรือนประชาชนในซอยปอเนาะใน แม้จะลดลงบ้าง แต่แนวโน้มอาจต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์
นายกัณวีร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของบ้านเรือนชาวบ้านที่ยังมีน้ำท่วมในซอยปอเนาะใน บ้านมูโนะ พบกับนายมาวาดี อับดุลกอเดร์ เจ้าของบ้านที่พังเสียหายยังตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเปิดเผยว่าจนขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูสภาพบ้านของเขาที่พังทั้งหลัง และยังไม่รู้ว่าจะกู้คืนมาได้หรือไม่
“บ้านผมสองหลังพังหมดเลย ตกใจมากว่าทำไมชลประทานไม่จัดการระบายน้ำไปก่อน พอน้ำมามากพนังกั้นน้ำพัง ทำให้บ้านชาวบ้านพังแบบนี้ รัฐจะรับผิดชอบอย่างไร” นายมาวาดี กล่าว
นายอาร์ฟาน วัฒนะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.นราธิวาส พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า เสียใจมากที่มาเห็นสภาพบ้านของชาวบ้านมูโนะ ที่ถือว่าน้ำท่วมหนักในรอบกว่า 20 ปี ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่ทำไมรัฐจึงบริหารจัดการหาทางป้องกันและจัดการกับปริมาณน้ำที่มีอยู่มาก เพราะจุดนี้อยู่ติดชายแดนทำให้มีน้ำจากประเทศมาเลเซียมาด้วย และปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการสร้างพนังกั้นน้ำตามแนวชายแดน
“การแก้ปัญหาผิดจุดเช่นการสร้างแนวกั้นน้ำที่กั้นน้ำชายแดนไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ แต่กลับทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ ทำให้ทุกปีมีกำแพงกั้นน้ำแตก อย่างปีที่แล้วก็เกิดขึ้นที่ สภ.มูโนะ มาปีนี้ก็มาเกิดกับบ้านชาวบ้าน จนบ้านพัง ชาวบ้านในพื้นที่ก็สะท้อนมาว่า มีกำแพงไว้ทำไม”
นายกัณวีร์ เห็นด้วยที่ต้องมีการทบทวนกรณีปัญหาการสร้างกำแพงกั้นน้ำ ที่ควรศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้ง ต้องทบทวนระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติที่มีอยู่ เพราะไม่ควรมีภาพประชาชนต้องไปอพยพอยู่บนริมถนน รวมทั้ง ต้องมีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเบื้องต้น ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน
“จากที่ได้คุยกับชาวบ้านพบว่าที่บ้านมูโนะ น้ำท่วมรอบสองแล้วในปีนี้ รอบแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และมารอบสองปลายปี ยิ่งหนักอีก จากครั้งแรกได้เงินเยียวยาน้ำท่วมหลังละ 7,000 บาทในเดือนเมษายน ยังไม่ทันจะซ่อมบ้านให้เรียบร้อยน้ำก็มาท่วมซ้ำอีก ดังนั้นการจ่ายเงินเยียวยาต้องรวดเร็วกว่านี้” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ขอให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ยังมีน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส รวมถึงจังหวัดยะลา และปัตตานี ที่เป็นจุดรับน้ำ ก็เริ่มมีน้ำท่วมในหลายอำเภอ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ที่เป็นจุดรับน้ำก่อนระบายลงทะเล
ส่วนการซ่อมแซมพนังกันน้ำ ชลประทาน จ.นราธิวาส กำลังเร่งนำบิ๊กแบ็ก หินแกเบรียล มาปิดคันกั้นน้ำที่พัง เพื่อลดกระแสน้ำไม่ให้เข้าท่วมเพิ่ม