DEEPSOUTH

เปิดไทม์ไลน์ 20 ปี คดีตากใบ ก่อนที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหา

เปิดไทม์ไลน์ 20 ปี คดีตากใบ ก่อนที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหา ข้อหาทำผู้อื่นถึงแก่ความตาย 78 ราย

วันนี้ (18 ก.ย. 67) จากกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องจำเลยในคดีตากใบ ในสำนวนของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี กรณีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน รวมผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อีก 7 คน รวมเป็น 85 คน

The Reporters พาเปิดไทมไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธปืนลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์

ต่อมา ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10:00 น. มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ. ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในเวลา 13:00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งในอำเภอตากใบ ในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และบิดามารดาของผู้ต้องหาทั้งหกมาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไข และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที รวมถึงมีการโห่ร้องขับไล่ยั่วยุเจ้าหน้าที่ ทำให้เหตุการณ์วุ่นวายและเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในระหว่างนั้น พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (ยศในขณะนั้น) ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุกจำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16:00 น. เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ประท้วง โดยนำผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 ถึง 50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19:00 น. ซึ่งนำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

เมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลา 21:00 น. เจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวลงจากรถบรรทุก ผลปรากฏว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2 (ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส), ผู้ต้องหาที่ 3 (นายวิษณุ เลิศสงคราม), ผู้ต้องหาที่ 4 (ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร), ผู้ต้องหาที่ 5 (นายปิติ ญาณแก้ว), ผู้ต้องหาที่ 6 (พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ) และผู้ต้องหาที่ 8 (ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์) ทำหน้าที่เป็นพลขับ ขณะที่ ผู้ต้องหาที่ 7 (พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ) เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ

คดีนี้ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้งสองคดีมีรายละเอียดดังนี้ ในสำนวนวิสามัญฆาตกรรม มี พ.ต.อ.พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนเห็นควร “สั่งไม่ฟ้อง” โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ส่วนสำนวนชันสูตรพลิกศพ เกี่ยวกับการตายของผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน โดยต่อมาในระหว่างไต่สวนได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย

จากนั้น ในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่เสียชีวิตคือ ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยหลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ รวมทั้งในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้กับอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็น และคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงาน อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 วรรคท้าย

ภายหลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุดในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

ทั้งนี้ วันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

“ การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ และถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีนี้มีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหา”

เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 8 มารับข้อกล่าวหาตามข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งแปดพร้อมแจ้งสิทธิ์ และพฤติการณ์แห่งคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 134 และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงข่าวในวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ โดยนายประยุทธ ระบุว่า คดีนี้ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนั้น ถือเป็นคนละส่วนกับคดีที่ประชาชนฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จนนำไปสู่การออกหมายจับ และหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีรวม 7 คน โดยมีชื่อผู้ต้องหาเดียวกัน แต่ผู้ต้องหาในึคดีต่างกันเพียงแค่ 1 คน คือ พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร

ส่วนคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ประชาชนฟ้องเอง นั้น หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 คนส่งศาลได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะถือว่าขาดอายุความด้วยหรือไม่ นายประยุทธ เผยว่า เรื่องนี้ตนเองเห็นว่ายังมีข้อถกเถียงในทางกฎหมายซึ่งต้องไปพิจารณากันว่า เมื่อศาลประทับรับฟ้อง และคดีอยู่ในกระบวนการชั้นศาลแล้ว จำเป็นจะต้องนำตัวผู้ต้องหามาก่อน 25 ตุลาคมด้วยหรือไม่ ซึ่งคดีนี้เป็นคนละส่วนกัน ตนเองจึงยังไม่กล้าตอบชัดเจน ต้องดูข้อกฎหมายก่อน

ส่วนคดีนี้เมื่อเช้าถึงกระบวนการของศาลแล้ว จะนำสำนวนของทั้ง 2 คดีมารวมกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล และกระบวนการหลังจากที่อัยการสูงสุดได้พิจารณาสั่งฟ้องแล้วนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งให้อัยการ เพื่อยื่นสั่งฟ้องต่อศาลในฐานะจำเลยในคดีต่อไป

Related Posts

Send this to a friend