‘รวงข้าวและเตารีด’ ปาตีเมาะ อูมา ภรรยาผู้เสียสามีในเหตุการณ์ตากใบ
รวงข้าวนี้ 20 ปีแล้ว ข้าวกินไม่ได้ ไม่มีรสชาติแล้ว แต่เป็นความทรงจำของเรา เราไม่เคยลืมว่าเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ จึงหวังแค่ได้เห็นความยุติธรรม ตอนนี้คนทำผิด แม้จับตัวไม่ได้ แต่เขาคงอยู่ไม่สุข เหมือนเราที่ทุกข์และเจ็บปวดมาตลอด”
ปาตีเมาะ อูมา เปิดเผยถึงเหตุผลที่เธอนำ รวงข้าว จากแปลงนา ที่เธอและสามีดำนาด้วยกัน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่สามี มามาสุกรี ลาเต๊ะ เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
“หลังจากดำนาในปีนั้น สามีไปตากใบ เราได้ค่าจ้างไถนา 1,200 บาท เขาแบ่งให้ก๊ะ 600 บาท ก๊ะเลยฝากซื้อเสื้อรายอให้ลูกคนโต เขาแค่บอกว่าจะไปตากใบ ก๊ะจะตามไปด้วย แต่เขาไม่ให้ไป หลังจากนั้นก๊ะมารู้ข่าวว่า สามีเสียชีวิต จากเหตุการณ์ตากใบ”
ปาตีเมาะ จำได้ว่า หลังรู้ว่าสามีเสียชีวิต เธอไม่ได้ดูศพ พ่อสามีบอกว่า จับตัวดูพบว่า คอหัก ที่ลำตัวมีรอยเหมือนถูกดอกไม้ไฟจี้ จำหน้าไม่ค่อยได้ เราก็รับศพไปฝังกูโบร์ที่ระแงะ ซึ่งในใบมรณะบัตรบอกว่าขาดอากาศหายใจ
“หลังเหตุการณ์วันนั้น ก๊ะไม่กล้าเรียกร้องอะไร กลัวไปหมด กลางคืนทหารมาหน้าบ้าน ไม่กล้าออกไปไหน ไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะคนที่ไปชุมนุมถูกมองว่าเป็นคนผิด ข้างบ้านก็มองเราเป็นศัตรู กว่าจะกล้าออกมา ก็หลายปี”
ปาตีเมาะ ยอมรับว่า จนถึงวันนึ้ ความรู้สึกของเธอเหมือนเพิ่งจะเกิดขึ้น 2-3 วันมานี้ แม้เวลาจะผ่านมา 20 ปีแล้ว ลูกคนเล็ก อายุ 20 ปี แล้ว ไม่เคยเห็นหน้าพ่อ เพราะพ่อจากไปตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เพียง 4 เดือน ส่วนคนโต ก็อายุ 24 ความทรงจำของพ่อจึงเลือนลางไปตามเวลา รวงข้าว ที่มาจากนาแปลงแรกในชีวิตคู่ และเตารีด ที่สามีซื้อให้ไว้รีดผ้าอ้อมให้ลูกในช่วงหน้าฝน เป็นของที่เหลืออยู่ไว้ให้ลูกดูต่างหน้าพ่อ
“ก๊ะ ดูแลลูกเราคนเดียวทำงานทั้งดำนา แบกข้าว เก็บเกี่ยว เพราะตอนนั้นพ่อแม่ก็แก่แล้ว ทำทุกอย่าง บางทีก็ไปทำงานที่มาเลเซีย แต่ 2-3 เดือน ก็กลับเพราะทิ้งลูกไว้กับแม่นานไม่ได้”
ปาตีเมาะ ตัดสินใจร่วมฟ้องกับครอบครัวอื่นๆ เธอบอกว่า ปรึกษาลูก ลูกก็ให้ฟ้อง เพื่อหาความยุติธรรมให้พ่อ เพราะไม่เคยเจอหน้าพ่อ เขารู้จากสื่อว่าพ่อตายอย่างไร เด็กยังคิดว่าสงสารพ่อ เลยอยากเห็นความยุติธรรม แทนหน้าของพ่อ
“ตอนนี้มีการออกหมายจับ ลูกว่า เขาจะจับได้ไหมแม่ เขาหนีไปหมดแล้ว เขาเห็นในข่าว เราก็ตอบไม่ได้ แต่เราทำดีที่สุดแล้ว แม้เขาไม่ได้ถูกจับ เราก็สบายใจนิดนึง เขาทำผิด ถึงไม่ได้ตัวมา เราก็สบายใจแล้ว บางทีเรารู้สึกว่า ถึงเขาไม่ได้ถูกจับ คนที่ทำผิดที่จะได้รับโทษ บางทีเขาก็อยู่ไม่เป็นสุขนะ เราก็เสียใจมาหลายปีแล้ว เขาก็คงต้องคิดว่าจะทำยังไงกับชีวิตที่ต้องหลบหนี” ปาตีเมาะ กล่าวย้ำ
รายงาน : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย