เลขาฯ สมช. รับ มีพรรคการเมืองหนุนแบ่งแยกดินแดน รัฐปาตานี แต่ ไม่ตัดตปท.เอี่ยวหรือไม่
วันนี้ (12 มิ.ย. 66) พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึง กรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ จัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อการกำหนดอนาคตตนเอง และให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช รัฐปาตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน2566 ที่ผ่านมา ว่า วันนี้ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อตรวจสอบในเนื้อหาสาระกิจกรรมกลุ่มนักศึกษา ว่ามีใครเกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างชัดเจน เปิดเผย เป็นธรรม ไม่มีเจตนาที่จะไปจ้องดำเนินการเอาผู้กระทำความผิด จะตรวจสอบดูว่าผิดหรือไม่ผิด และจะดำเนินการตามกฎหมายเท่าที่จำเป็น
สิ่งที่เรากังวลคือการเผยแพร่ไปยังสาธารณชน ก็ต้องไปดูว่ากลุ่มที่ทำ โดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ กลไกต่างๆ ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาฯ สันติสุขในระดับตำบล ที่ปรึกษา ซึ่งมีหลายองค์กร มีหลายกลไกที่มีอยู่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด จึงต้องไปดูว่าสิ่งเหล่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และส่วนที่ 2 ที่กำลังทำอยู่ ได้มีการเน้นย้ำข้อห่วงใย ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พยายามให้ชี้แจง ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะผิดกฎหมาย จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้พยายามให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าไปทำให้ความเข้าใจ โดยอาศัยทุกกลไกที่มีเข้าไปพูดคุย
ส่วนมีการประเมินหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าว ของคนในพื้นที่ที่ขณะนี้มีการรุกคืบมากขึ้น พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า จะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำงาน ซึ่งขณะนี้ก็มีข้อมูลเดิมอยู่พอสมควร ทั้งการโยงใยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตามในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือการทำความเข้าใจ ว่าเรามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร ต้องการให้ประชาชนคนไทย ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อยู่ดีกินดีปลอดภัยและอยู่ภายใต้กฎหมาย และพร้อมที่จะสนับสนุนความต้องการของคนในพื้นที่ ทั้งสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งเป็นแผนงานที่รัฐบาลพยายามทำมา เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน แม้ว่าบางกลุ่มจะมีความคิดอย่างที่ทุกคนทราบดี แต่ก็ต้องพยายามอธิบายทำความเข้าใจ ว่าจะมีผลดีหรือผลเสีย อย่างไร
เมื่อถามย้ำว่ามีหลักฐานหรือไม่ว่าในเรื่องนี้มีพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เลขาฯสมช. ย้อนถามกลับว่า ท่านก็ทราบอยู่แล้ว การจัดกิจกรรมเท่าที่ทราบจะเห็นว่า มีพรรคการเมืองเกี่ยวข้องด้วย ทั้งอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งขอให้ทางเจ้าหน้าที่ เข้าไปทำงานตรวจสอบก่อน ซึ่งต้องอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนอยู่แล้วว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้อง
ส่วนจะต้องย้อนกลับไปดูถึงการหาเสียงเลือกตั้งของบางพรรคการเมือง ที่มีนโยบายให้บางจังหวัดมีนายกรัฐมนตรีเป็นของตนหรือไม่นั้น พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า หากสังเกตการหาเสียงเลือกตั้งมีนโยบายค่อนข้างที่จะสุดโต่ง แรงในหลายเรื่อง ที่ทาง สมช.มีข้อกังวล แม้ว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งก็ตาม ก็เริ่มมีการออกมาเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง เกี่ยวกับนโยบายที่จะทำ ตนเองคิดว่านโยบายเหล่านั้นนุ่มนวลลง ซึ่งจากที่ฟังและเก็บรายละเอียด ก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราพยายามทำ แต่ข้อมูลเดิมที่ผ่านมา อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็จะถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะสามารถเอาผิดพรรคการเมืองได้หรือไม่
เมื่อถามว่าในเบื้องต้นกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่มีแรงกระเพื่อมจากภายนอกประเทศใช่หรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้ตัด โดยทุกวันนี้ ก็ได้มีการพูดคุยกับต่างประเทศในระดับนโยบายโดยรวม โดยให้ฝ่ายองค์กรต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศลงไปรับทราบข้อมูลในจังหวัดชายแดนใต้ และมีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ส่วนขั้นตอนการเข้ามาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขององค์กรต่างประเทศ พลเอกสุพจน์ ชี้แจ้งว่า จะต้องมีการขออนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ตกลงร่วมกันกับหน่วยงานด้านความมั่นคง จากนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจะ พูดคุยกับทาง สมช. ถึงความต้องการและวัตถุประสงค์ หากดูแล้วไม่กระทบ ไม่เป็นปัญหาต่อประเทศเรา ก็จะมีขั้นตอนให้ศ.อบต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงอื่นเพื่อให้สามารถให้หน่วยงานองค์กรต่างประเทศเข้าไปในพื้นที่ ได้ตามวัตถุประสงค์
ส่วนการประกาศเจตนารมณ์ในมหาวิทยาลัย จากนี้จะสามารถทำได้หรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า จะต้องดูที่เจตนาข้อมูลว่าผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้ และในขณะนี้เองกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยังไม่ได้มีการรายงานความผิดเข้ามาเนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
เมื่อถามย้ำว่าหากเป็นในกรณีการลงประชามติแบ่งแยกเอกราชถือเป็นการเข้าข่ายการกระทำความผิดใช่หรือไม่ พลเอกสุพจน์กล่าวว่า ถ้าเป็นการทำประชามติจะต้องดำเนินการ หากเป็นเรื่องเอกราช ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ส่วนจะผิดกฎหมายมาตราย่อยอะไร ต้องไปดูพฤติกรรมหลักฐานสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกอ.รมน.จะเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ ซึ่งวันนี้ได้มีการเชิญกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการ เข้ามาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะ
ส่วนหากอนาคตมีความผิดจริง สำหรับพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าไปร่วมการเสวนาจะถือว่ามีความผิดหรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า หากมีหลักฐานว่ามีความผิดก็คือมีความผิด ถูกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. วิทยาเขตปัตตานี จะต้องรับความผิดร่วมด้วยหรือไม่ หากดูผิวเผิน เป็นกิจกรรมทางวิชาการ แต่ในเนื้อหาสาระ มีทั้งในเชิงวิชาการ และกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเป็นบ่อเกิดประเด็น ที่เราเป็นห่วงที่จะต้องมีการทำความเข้าใจกับสังคม
ส่วนแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นหรือไม่ พลเอกสุพจน์กล่าว ได้มีการเตรียมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้ในพื้นที่ได้มีการรับแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง ในเรื่องต่างๆตามกฎหมาย ส่วนกระบวนการอะไร ที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมาย จริงๆแล้วประเทศเรามีระบบที่ชัดเจน ว่าจะต้องเสนอผ่านกระบวนการอะไร
ส่วนมีการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ หลังจากมีการประกาศในเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนในพื้นที่เข้าใจ เราไม่ได้ต้องการที่จะไปต่อสู้ หรือปิดกั้น เพียงแต่ต้องดูบริบทของในพื้นที่ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าแก้ไขปัญหามาถึงจุดนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนา ให้เกิดความก้าวหน้ายิ่งขึ้น และปลอดภัย ซึ่งตนคิดว่าเราเดินมาในทิศทางที่ถูก เรามีทั้งความพยายาม ที่จะสร้างความสงบให้มากขึ้น ไม่ให้มีการก่อเหตุร้าย แม้ว่าจะมีอยู่บ้างก็ตาม และขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะเปิดเป็นที่พูดคุยกับผู้เห็นต่างทางการเมือง มาโดยตลอด และทุกวันนี้ก็ได้มีการยกระดับการพูดคุยอย่างกว้างขวาง กับทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่ม BRN หรือกลุ่มอะไรก็ตามก็ต้องรับฟัง และเราก็พยายามที่จะเชิญนักการเมือง ตัวตั้งตัวตีตัวตั้งตัวตีของประชาชนมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและช่วยกันแก้ไขปัญหา โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็รับทราบ
เมื่อถามว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวของกลุ่มนักศึกษา เป็นการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่ พลเอกสุพจน์กล่าวว่า ไม่เกินความคาดการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีกิจกรรมที่น่ากังวล เนื่องด้วยพยายามสนับสนุนให้ประชาชน ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม ได้แสดงความคิดเห็น ภายใต้กรอบกฎหมาย เท่าที่เราสามารถทำได้ เพื่อประชาชนสามจังหวัดเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนากดขี่ หรือบังคับ หรือมองว่าไม่ใช่เป็นกลุ่มประชาชนคนไทย เราก็ได้พยายามให้ท่านได้แสดงออกตามที่ต้องการภายใต้กฎหมาย
ส่วนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่ พลเอกสุพจน์ กล่าวยืนยันว่าไม่ลำบาก วันนี้ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ โดยความกังวลในฐานะที่ สมช.ดูแล หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องทำงานบนพื้นฐาน ข้อเท็จจริงบนข้อมูลการวิเคราะห์ แผนการแก้ปัญหา และการเตรียมการ ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องนำเสนอข้อมูล ที่เราทำงานตามบทบาทหน้าที่ทางกฎหมาย
เมื่อถามย้ำว่าการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องมีแกนนำบางคนประกาศเตรียมออกมาเคลื่อนไหวลงถนนเพื่อกดดันสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ใช่หรือไม่ เลขาฯสมช.กล่าวว่า เราต้องมีความพร้อม หากมีการออกมาชุมนุม ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ในการไปอำนวยความสะดวก เรื่องความปลอดภัย ต่อทุกฝ่าย ไปหากก่อเหตุรุนแรงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการป้องกัน และยุติระงับยับยั้งเหตุ ส่วนการข่าวในตอนนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวล
พลเอกสุพจน์ ยังฝากทำความเข้าใจ ว่าในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคง เคยพูดหลายครั้งว่าการที่ประเทศไทยจะเดินหน้าในทุกมิติได้อย่างราบรื่นคือการมีรัฐบาลที่มั่นคงที่จะไม่มีเหตุการชุมนุม ไม่มีเหตุความไม่สงบ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เดินหน้าตามกรอบกฎหมาย คิดว่าเราน่าจะไปได้ดี