‘ฉัตรชัย‘ ยัน สานต่อสันติภาพใต้ หวังพูดคุยรอบใหม่ปลายเดือน ม.ค.นี้
‘ฉัตรชัย‘ ยัน สานต่อสันติภาพใต้ หวังพูดคุยรอบใหม่ปลายเดือน ม.ค.นี้ .เดินหน้าพิจารณาแผน JCPP คาด ได้ข้อตกลงสันติสุขสิ้นปีนี้ ยันไม่ห้ามแต่งชุดมลายู ให้ดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้ (10 ม.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพูดคุยกับ พล.อ. ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เราได้เชิญฝ่ายคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐตั้งแต่วันที่ 8 – 10 ม.ค. นี้มาพูดคุยเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ในขั้นตอนที่จะไปพูดคุยกันที่มาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่าจะสานต่อแนวทางที่เคยทำไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คือแนวสันติสุขแบบองค์รวม ซึ่งเราคาดหวังว่าจะพิจารณาร่างแผน JCPP ในช่วงเดือนมกราคม แต่ทางพล.อ. ตันศรี ต้องไปประสานฝ่ายกระบวนการว่ามีความพร้อมหรือไม่ และได้รับไปดำเนินการเรียบร้อย โดยในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทางคณะจะได้เดินทางไปพูดคุยที่มาเลเซีย ซึ่งเรายืนยันว่าอยากได้ช่วงสิ้นเดือนมกราคม เพื่อดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายฉัตรชัย ระบุว่า เราได้กำหนดแนวทางการทำงาน ว่าอยากรับรองแผนฉบับนี้ในเดือนเมษายน 2567 และคาดหวังว่าหากมีการรับรองแผนแล้วจะทำให้กระบวนการเดินหน้าได้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดในร่างนี้มี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ลดความรุนแรง ลดการเผชิญหน้า 2.เปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3.แสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคาดหวังเป้าหมายสุดท้ายให้ทุกส่วนกลับคืนสู่สภาวะปกติ กลับคืนสู่สันติสุขในพื้นที่ และความคาดหวังในชั้นต้น หากแผนถูกดำเนินการภายใน 10 เดือนนี้ จะมีข้อตกลงสันติสุขภายในเดือนธันวาคม 2567 หรือต้นปีหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการและเงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งก็ได้รายงานพล.อ. ตันศรี ไป ซึ่งท่านบอกว่าที่อื่นใช้ระยะเวลานาน โดยเราจะนำประสบการณ์ที่ผ่านมามาใช้ และหากคณะทำงานมีความพร้อม ให้ความร่วมมือ ก็น่าจะไปได้เร็ว
นายฉัตรชัย ยังยืนยันว่า จะทำตามแผนเดิมที่ได้ทำร่วมกับ BRN ไว้ ซึ่ง BRN เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ต้องคิดถึงคนในพื้นที่ด้วยที่เป็นส่วนสำคัญ จึงนำไปการเปิดเวทีสาธารณะให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม และสุดท้ายทุกอย่างจะกลับคืนสู่ประเทศไทย เป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเองที่จะต้องหาข้อสรุปร่วมกันในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องของความไว้ใจยังต้องให้ฝ่ายมาเลเซียเข้ามามีส่วนร่วม ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญเป็นเรื่องที่เราใช้ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในการสร้างความไว้วางใจ เพื่อให้การดำเนินการทุกส่วนได้มีความเชื่อมั่นว่ารัฐมีความมุ่งมั่น จริงจัง ในการแก้ไขปัญหา
ส่วนจะมีการเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นเข้าด้วยหรือไม่นั้น นายฉัตรชัย ระบุว่า ตามนโยบายเราตั้งใจคุยทุกกลุ่ม รวมถึงพี่น้องในพื้นที่ด้วย อาจมีเวทีเปิดทั่วไป หรือเวทีเฉพาะ บางเรื่องไม่ควรพูดในที่สาธารณะ เราก็ยินดีรับฟัง เปิดพื้นที่พูดคุยให้เหมาะสม
ส่วนการดำเนินคดีกับภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาจสวนทางกับกระบวนการพูดคุยนั้น นายฉัตรชัย ระบุว่า เรื่องชุดมลายู ไม่ได้มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ว่าเป็นเรื่องของความสวยงาม และวัฒนธรรม ก็สามารถทำได้เต็มที่ ส่วนเรื่องการกระทำความผิดเป็นเรื่องของทางกองทัพภาค 4 ในการดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดนี้ควรมีการพูดคุยกันภายในเพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นความเห็นต่างของคนกลุ่มหนึ่งในประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยง และคิดว่าปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไปจะดีกว่า ส่วนเรื่องการพูดคุยภาพใหญ่ จะยังคงดำเนินการต่อไป และยังมีพี่น้องในพื้นที่อีกหลายส่วนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าจะดำเนินการคู่ขนานกันไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง