มอ. สร้างอาชีพให้ชุมชนโต๊ะบีซุผ่านการแปรรูปเพิ่มมูลค่าอาหารทะเล

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สร้างอาชีพให้ชุมชนโต๊ะบีซุผ่านการแปรรูปเพิ่มมูลค่าอาหารทะเล
ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มอบหมายให้ ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกับ ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ให้ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซุ ม.8 ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ จำนวน 784 คน รวม 127 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนที่สุดของ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางไปขายแรงงานร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย
สำหรับหมู่บ้านแห่งนี้ มีสภาพเป็นเกาะ ด้านหนึ่งเป็นทะเล อีกด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำตากใบ การเดินทางจะต้องใช้เรือเป็นพาหนะข้ามฟากระยะทางประมาณ 500 เมตร หากเดินเท้าข้ามสะพานต้องอาศัยทางข้ามสะพานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส โดยใช้เงินทุนจากกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ ผศ.สมเกียรติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำประชาพิจารณ์จนทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ออกไปจับสัตว์ทะเล เช่น หมึก ปลา ปู และกุ้ง เมื่อได้มาต้องนำไปจำหน่ายให้นายทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้านเพื่อบวกลบหักหนี้ เจ้าหน้าที่จึงพูดคุยกับนายทุนโดยขอแบ่งสัตว์ทะเลส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า นำรายได้ส่วนต่างจากการแปรรูปสัตว์ทะเลไปบวกลบหักหนี้ที่นายทุน ทำให้ชาวบ้านชำระหนี้ที่ติดค้างได้เร็วขึ้น และรายได้อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ขัดสน ซึ่งชาวบ้านและนายทุนต่างยอมรับข้อตกลงนี้ จึงเป็นที่มาที่ไปของโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในการเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารทะเล
โครงการดังกล่าวล่วงเลยมาเป็นเวลา 8 เดือน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 คน โดยมี น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ และ น.ส.ซูไบด๊ะ บือราเฮง เป็นหัวหน้าและร่วมบริหารกลุ่ม โดยสินค้าอาหารทะเลที่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นไปตามฤดูกาล พร้อมสาธิตขั้นตอนการแปรรูปปลากระบอก และหมึกตากแห้งตามธรรมชาติโดยที่ไม่ใช้สารเคมี ที่ปัจจุบันเริ่มมีผู้บริโภคมากขึ้น
ขั้นตอนการแปรรูปปลากระบอกตากแห้งหรือแดดเดียว หากมีปริมาณไม่เพียงพอ จะซื้อปลากระบอกเพิ่มจากชาวบ้าน กิโลกรัมละ 60 บาท มาขอดเกล็ดปลา เอาเครื่องในออก ล้างจนสะอาด แล้วมามาแช่น้ำทะเลส่วนหนึ่ง อีกส่วนมาแช่เกลือ ซึ่งกรรมวิธีทั้ง 2 แบบ จะได้รสชาติต่างกัน จากนั้นนำไปตากแห้งเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะบรรจุขาย น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในราคา 350 บาท
ส่วนหมึกตากแห้งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ หมึกหอม และหมึกกล้วย หากมีปริมาณหมึกไม่เพียงพอ จะรับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 250 บาท เมื่อนำมาแปรรูปจะจำหน่ายขนาดเล็ก 5 ตัว ราคา 1,000 บาท ส่วนตัวใหญ่ 2 ตัว ราคา 1,800 บาท การแปรรูป ให้นำหมึกไปผ่าท้องทำความสะอาดแล้วนำมาแช่เกลือทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำไปตากแดดประมาณ 2 วัน จากนั้นนำมาบรรจุขาย น้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีขนาดเล็กบรรจุ 5 ตัว จำหน่ายในราคาถุงละ 1,000 บาท ส่วนหมึกตัวใหญ่ ซึ่งมีขนาดบรรจุถุงละ 2 ตัว จำหน่ายในราคา 1,800 บาท
น.ส.รูฮานี กล่าวว่า สมาชิกชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 30 คน ขณะนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนคนละ 1,500 บาท โดยจะจำหน่ายออกบูธตามงานต่าง ๆ ในตัวเมืองตากใบและนราธิวาส และจะจำหน่ายทางเพจหมู่บ้านโต๊ะบีซู