CEA เผย 7 ปี Bangkok Design Week ยกระดับการออกแบบสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ผู้ร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) เผยผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดเทศกาล ช่วยแต่งเติมชีวิตชีวาให้กับเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในพื้นที่ในช่วงเวลาที่จัดงาน ยกระดับงานออกแบบเพื่อทำให้เมืองดีขึ้น
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 (ตั้งแต่ปี 2561-2567) ด้วยจุดประสงค์ในการเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่พัฒนา ‘ผู้คน ธุรกิจ ย่านและเมืองสร้างสรรค์’ ประยุกต์ใช้กระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของเมืองในมิติต่าง ๆ รวมทั้งเติมเต็มบรรยากาศของกรุงเทพฯ ให้ศิวิไลซ์มากขึ้น ทั้งยังเปิดเวทีให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่บนพื้นที่จริง เปิดโอกาสการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และภาคการผลิตจริง โดย 6 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,948 ล้านบาท และปีนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างเทศกาลฯ ไม่น้อยกว่า 1,250.2 ล้านบาท และผู้เข้าร่วมงาน 409,445 คน
แต่ละปี จะกำหนดธีมที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับของงานต้นแบบ/งานทดลอง จนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม จัดแสดงผ่านการใช้พื้นที่ย่านต่าง ๆ จากเดิมปี 2561 จัดขึ้นใน 1 ย่าน (เจริญกรุง-ตลาดน้อย) ขยายไปเป็น 15 ย่าน เปรียบเสมือนการวิ่ง ‘มาราธอน’ ที่ไม่มีเส้นชัย เพราะการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ (ที่เต็มไปด้วยบาดแผล) กับวลีคุ้นหู ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงหลักปี แต่ต้องอาศัยการยืนระยะหลาย 10 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การศึกษาและวิจัยพื้นที่และบริบทของเมืองไปพร้อม ๆ กัน
สิ่งที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ทำมาตลอด จึงเป็น ‘Festivalisation’ นำแนวคิดและวิธีสร้างประสบการณ์แบบเทศกาลมาใช้ในการขับเคลื่อนเมือง สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนหลังจบเทศกาลที่ไม่ใช่เพียงอีเวนต์ที่จัดแล้วจบไป แต่ช่วยจุดประกายให้ผู้คนและย่านเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อในระยะยาว เมื่อการพัฒนาหลาย ๆ ย่านรวมกัน ทำให้เกิด ‘เมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงมีส่วนผลักดันให้กรุงเทพฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) สาขาการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562 ‘เทศกาลฯ’ จึงเป็นของทุกคนที่ต้องการทำให้ ‘กรุงเทพฯ’ เป็นเมืองที่ทั้ง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ผ่านการออกแบบใน 4 มิติ ได้แก่
1.‘เทศกาลฯ’ ออกแบบประสบการณ์บนพื้นที่ทิ้งร้าง/ไม่ได้ถูกใช้งานด้วยเรื่องราวใหม่ หนึ่งในนั้นคือ หอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณแยกแม้นศรี ย่านพระนคร กลุ่มผู้ขับเคลื่อนของย่านพระนคร ‘ศูนย์มิตรเมือง’ (Urban Ally) จึงจัดทำโปรเจกต์ ‘ประปาแม้นศรี’ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566-2567 สร้างประสบการณ์ใหม่แก่พื้นที่สาธารณะในเมือง ปลุกพื้นที่ที่ถูกทิ้งให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ยังทำให้หลายคนเห็นศักยภาพของพื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างความผูกพันระหว่างคนกับเมืองมากขึ้น อีกทั้ง กรุงเทพมหานครยังมีแผนใช้พื้นที่ของ ‘ประปาแม้นศรี’ เป็น ‘บ้านอิ่มใจ’ เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านในอนาคต
2.‘เทศกาลฯ’ ออกแบบให้ ‘คน’ เชื่อมต่อกัน เพื่อขับเคลื่อนคุณค่าในย่าน โดยหัวใจของการจัดเทศกาลคือการเป็นพื้นที่สื่อกลางที่เชื่อมโยงผู้คนให้มาแลกเปลี่ยนความรู้ นำไอเดียไปใช้แก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ สร้างคุณค่าให้ย่านต่าง ๆ เริ่มต้นขับเคลื่อนพื้นที่ของตัวเองในระยะยาว เช่น ‘ปากคลองตลาด’ ที่เดิมทีเป็นที่รู้จักในฐานะย่านขายดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้พื้นที่นี้เป็นโจทย์สำหรับวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน และก่อตั้งเพจ Humans of Flower Market: มนุษย์ปากคลองฯ นำโปรเจกต์มาต่อยอดสู่ ‘ปากคลอง Pop-Up’ จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
3.‘เทศกาลฯ’ ออกแบบ ‘เมือง’ ให้ ‘น่าอยู่’ ขึ้น เป็นพื้นที่ที่ทำให้บทสนทนาเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมืองขยายวงออกไปไกลกว่าแค่ในวงการออกแบบ และทำให้ประเด็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายได้ง่ายขึ้น เช่น โปรเจกต์ Re-Vendor เจริญกรุง 32 (ปี 2566) โมเดลทดลองการจัดการสตรีทฟู้ดริมทางย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอยเจริญกรุง 32 โดย Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) ชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสตรีทฟู้ดให้เข้ามามีส่วนร่วม และนำไอเดียมาสร้างเป็นโมเดลทดลองในซอยเจริญกรุง 32 สร้างการมีส่วนร่วมในการให้ไอเดียการพัฒนาเมืองไม่ได้จบอยู่ที่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ปัจจุบันโปรเจกต์ยังคงพัฒนาต่อ และเป็นความสำเร็จของเทศกาลฯ
4.‘เทศกาลฯ’ ฟื้นฟูภูมิปัญญาใกล้สูญหาย ให้กลับมาเข้าถึงง่าย โดยกิจกรรมของกลุ่ม Sense of Nang Loeng (ปี 2566) นำละครชาตรี ศิลปะการละครของชุมชนตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของไทยที่มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจัดแสดงในรูปแบบร่วมสมัย รื้อฟื้นอัตลักษณ์ของย่านนางเลิ้งที่เป็นบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตขึ้นมาใหม่ ดึงดูดความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำความรู้จักนางเลิ้งในอีกแง่มุมมากขึ้น
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 มาพร้อมโจทย์ ‘HACK BKK’ ซึ่ง CEA พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักออกแบบ/นักสร้างสรรค์ ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและพัฒนากับ Bangkok City Lab ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง พื้นที่สาธารณะ การอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ในเมือง ฯลฯ
ทั้งนี้ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ พยายามขับเคลื่อนโดยมีทุกภาคส่วนร่วมกันประกอบสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่’ กว่าที่เคย พร้อมกับกลุ่มผู้ขับเคลื่อนทั้ง 15 ย่าน รวมถึงภาครัฐ และเอกชน ที่ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองในแบบที่เราต้องการใช้ชีวิตไปด้วยกัน ทั้งยังหวังว่าวลีคุ้นหู ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ จะกลายเป็นจริงได้สักวันหนึ่งในอนาคต