ART & CULTURE

ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ร่วมกับ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส และ ศอ.บต. ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ร่วมกับ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาเทคนิคครูช่างให้อยู่คู่กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้สามารถถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยที่เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานในชุมชน

นายเซ็ง อาแว ครูช่างศิลปหัตถกรรม แกะสลักไม้ กล่าวว่า หัตถกรรมแกะสลักไม้ลวดลายมลายูได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นชาวมลายูในจังหวัดนราธิวาส ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในถิ่นกำเนิดที่มีรากทางวัฒนธรรมยาวนาน โดยเอกลักษณ์งานแกะไม้ของตนเอง คือ การแกะสลักลวดลายเป็นลายดอกมลายู หรือลวดลายอักษรประดิษฐ์

พัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ประธานกลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน กล่าวว่า ตนก่อตั้งกลุ่มกระจูดบ้านทอนอามานมาตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 35 คน อาศัยความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ของบ้านทอนเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยเอกลักษณ์ด้านความงามและความประณีต

นางสาวยามีละห์ ดอเลาะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีสานเสื่อกระจูดบ้านโคกพะยอม กล่าวว่า กลุ่มสตรีสานเสื่อกระจูดบ้านโคกพะยอมเป็นกลุ่มที่มีลวดลายแปลกตากว่าพื้นที่อื่น ๆ เพราะเป็นลวดลายพิเศษ คือ ลวดลายโบราณผสมกับลวดลายพระราชทาน สร้างผลงานออกมาและได้รับรางวัลระดับชาติ

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจของแต่ละชุมชนยังคงผลิตชิ้นงานสู่ท้องตลาด ซึ่งจะมีรูปทรงทั้งแบบโบราณและแบบร่วมสมัย ทุกผลิตภัณฑ์ถูกทำออกมาด้วยมือ (Hand made) การันตีโดยรางวัลผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว และช่างหัตศิลป์ไทยยอดเยี่ยม กลุ่มงานเครื่องจักสาน นอกจากนี้ ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ และมีผู้มารับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend