ART & CULTURE

ครบ 4 ปี “หลวงปู่มหาผ่อง” ละสังขาร…ปณิธานยังคงแน่แน่ว

วันที่ 7 ตุลาคม 2562 ครบรอบ 4 ปี พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนสัมพันธฺลาว “ละสังขาร” ขณะที่ท่านสิริอายุ 100 ปี

4 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า “หลวงปู่มหาผ่อง” ท่านจากไปแต่เพียง”ร่างกาย” แต่”ปณิธานอันแน่วแน่” ของท่านยังคงดำรงอยู่ ผ่าน”แนวคิด””หลักธรรม””คำสอน” ที่ท่านสั่งเสียไว้กับ”ลูกศิษย์ใกล้ชิด” ให้ใช้”ศาสนาพุทธ” เชื่อมสัมพันธ์ดินแดนลุ่มน้ำโขง

ภารกิจสุดท้ายก่อนหลวงปู่มหาผ่องละสังขาร คือการรับนิมนต์จาก ดร.สุภชัย วีระภุชงค์เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย. โดยเป็นประธานร่วมกับประธานสงฆ์และผู้แทนจาก 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง เมื่อวันที่ 9-13 กันยายน 2558 จัดขึ้นที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง กล่าวสัมโมทนียกถา ในงานเสวนาพุทธพลิกสุวรรณภูมิที่สื่อหลายสำนักนำไปอ้างอิง ดังนี้

ละสังโยชน์ 3 ได้ ก็บรรลุโสดาบัน (ผู้แรกถึงกระแสธรรมแห่งพระนิพพาน ถือเป็น”อริยบุคคล” ระดับแรกใน 4 ระดับ คือ “โสดาบัน” “สกทาคามี” “อนาคามี” “อรหันต์)

นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง ….”ความสุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

หลวงปู่มหาผ่อง อธิบายขยายความว่า “ความสงบ” นี้คือ “ส้นติภาพ” ที่มวลมนุษย์ทั่วโลกต้องการแสวงหามาตลอด ถึงปัจจุบันเป็นงานของ “นักวิทยาศาสตร์” “นักเรียนรู้” “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งมีทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่

แม้ “นักวิทยาศาสตร์” จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “ทุนนิยม” กับ “สังคมนิยม” แต่ก็ล้วนยึดติดกับ “ทรัพย์สิน” เพื่อสนองความมั่งมี แต่กลับยังไม่พบ “สันติภาพ” จึงพากันย้อนกลับมาหา “ความจริง” ในศาสนา ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจว่า “พวกน้บถือศาสนาเป็นพวกจิตนิยม และไสยศาสตร์” แต่ยังไม่เคยค้นหาความจริงจาก “พระพุทธศาสนา” ที่มีแนวคิดว่า “โลกมนุษย์เป็นโลกพิเศษ” เป็น “จุดกำเนิด” เป็นต้นทางที่จะไป “นรก” “สวรรค์” และ “นิพพาน”

พระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง สะมาเลิก

“นรก” และ “สวรรค์” ตามแนวคิดของ “พุทธศาสนา” คืออยู่ที่ “อายตนะทั้ง 6” คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าเอา “วัตถุ” หรือ “ร่างกาย” เป็นหลัก “นรก” อยู่ใต้ดิน… “สวรรค์” อยู่บนฟ้า

แต่ถ้าอธิบายความตาม “พระบาลี” “ร้อน” อยู่ที่ “อายตนะทั้ง 6 เป็น “นรก”

“สบาย” อยู่ที่ “อายตนะทั้ง 6 เป็น “สวรรค์”

ดัง “สำนวน” ที่เราคุ้นเคยกันว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” มีความหมายว่า “ความสุขที่เกิดจากการทำความดี” หรือ“ความทุกข์ที่เกิดจากการทำความชั่ว” ย่อมอยู่ในใจของผู้ทำเอง

ส่วน “นิพพาน” เป็นคำที่ใช้ใน “ปรัชญา” หลายระบบใน “อินเดีย” โดยใช้ในความหมายของ “การหลุดพ้น” ในพระพุทธศาสนา อธิบายว่า “นิพพาน” คือ การหลุดพ้นจาก “อวิชชา” “ตัณหา” ซึ่งแสดงออกในรูป “โลภะ” โทสะ” “โมหะ” ( “โลภ” “โกรธ” “หลง”) มิได้หมายความว่าเป็นการหลุดพ้นของ “อัตตา” หรือ “ตัวตน” ในโลกนี้ ไปสู่สภาวะของ “นิพพาน” แต่หมายถึง ความดับสนิทแห่งความเร่าร้อน และเครื่องผูกพันร้อยรัดที่เรียกว่า “ความทุกข์”

ใน “พระไตรปิฎก” “พระพุทธเจ้า” กล่าวถึง “นิพพานธาตุ” 2 ประเภท คือ

“สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ” หมายถึง “นิพพาน” โดยที่ “อินทรีย์ 5” ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์ ประสบกับ “อิฏฐารมย์” (อารมณ์ที่น่าปรารถนา” และ “อนิฏฐารมย์” (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา)

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว

พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง เคยเล่าประวัติชีวิตของท่านระหว่างเข้าร่วมประชุมคณะสงฆ์ และกรรมการบริหารองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งโลก ที่ประเทศไทย ในโอกาสร่วมงานฉลองพระชนมพรรษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯเมื่อปี 2556

เรื่องเล่าในครั้งนั้นสร้างความฮือฮาในวงการพุทธศาสนา เพราะท่านย้อนความหลังว่าท่านเกิดที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราขธานี เข้ามาเรียนบาลี ที่วัดชนะสงคราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2480-2496 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ใช้เวลาศึกษาธรรมที่วัดขนะสงครามนาน 16 ปี ท่านจึงมีความสนิทสนมกับ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ” เพราะเรียนบาลีในบางชั้นเรียนร่วมกัน

หลังจากสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค ท่านเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรลาว (สมัยนั้น) เพื่อกอบกู้ชาติลาว แม้ท่านจะเกิดในแผ่นดินไทย แต่บรรพบุรุษของท่านอยู่ที่อาณาจักรลาว จึงเข้าร่วมกอบกู้ชาติกับเจ้าเพชรราช

อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจมาก คือ “ลุงโฮ” หรือ “ประธานโฮจิมินห์” รับท่านเป็น “บุตรบุญธรรม” เพราะท่าน “ประธานโฮ” สนิทสนมกับ “เจ้าเพชรราช”

หลังขบวนการกู้ชาติลาวสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์ลาวมอบหมายให้ท่าน แก้ปัญหาคณะสงฆ์ลาว หลวงปู่มหาผ่องใช้เวลาราว 1 เดือน “ยุบ” ทั้ง “คณะสงฆ์มหานิกาย” และ “ธรรมยุต” ที่แตกแยกให้เป็น “พระสงฆ์ลาว” เท่านั้น

ฉากชีวิตของ “อริยสงฆ์ 2 แผ่นดิน เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสัน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุข ด้วยการมี “ธรรมะ” เป็น “เครื่องนำทาง”

โอวาทสุดท้ายของ “อริยสงฆ์ 2 แผ่นดิน” ที่ให้ไว้ในปี 2556 ระหว่างกิจนิมนต์ที่จังหวัดเสียมราฐ คือ ขอให้ทุกๆรูป ท่าน ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง ในการละสังโยชน์ 3 คือ

ส้กกายทิฏฐิ ความเห็นแก่ตัว

วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่กล้าตัดสินใจ

สีลัพพตปรามาส การล่วงละเมิดศีลธรรม

ตามคำสอนใน”พุทธศาสนา” ถือว่า บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ประการนี้ได้ เท่ากับ”บรรลุธรรม” ถึงขั้น “โสดาบัน” ได้แล้ว

อ้างอิง: 

วิกิพีเดีย
คอลัมน์ธรรมะ : อาลัยหลวงปู่ ดร.มหาผ่อง อริยสงฆ์ 2 แผ่นดิน โพสต์ ทูเดย์
หนังสือธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรมเล่ม 2 โดยนายพินิจ รักทองหล่อ

Related Posts

Send this to a friend