ผบ.ทร. ส่งมอบเรือพระราชพิธีที่ซ่อมแล้ว ให้กรมศิลปากรนำไปตกแต่ง
พลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีส่งมอบการซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน 14 ลำ ซึ่งกองทัพเรือซ่อมให้กรมศิลปากร เพื่อนำไปประดับตกแต่ง โดยมี นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับมอบ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กองทัพเรือ รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งได้เตรียมการด้านการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และการซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ
ในส่วนของการซ่อมบำรุงเรือพระราชพิธี อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการสำรวจ และซ่อมเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ ตั้งแต่ธันวาคม 2566 โดยนำเรือมาซ่อมบำรุงด้วยวิธีศิลปะภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน การตอกหมันเรือ นำด้ายดิบมาตอกเข้าบริเวณร่องระหว่างไม้กระดานเรือให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเรือ จากนั้นชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางยาแนวในร่องและทาทั่วทั้งบริเวณนอกลำเรือเพื่อป้องกันเพรียงกินไม้ที่จะทำให้เรือผุเร็ว
ภายหลังการซ่อมบำรุง ได้ส่งมอบเรือให้กรมศิลปากรเพื่อดำเนินการตกแต่งตัวเรือตามแผนปฏิบัติงานการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พ.ศ.2567 รวม 16 ลำ แยกเป็น
1.เรือพระที่นั่งจำนวน 4 ลำประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
2.เรือรูปสัตว์จำนวน 10 ลำ ประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว, เรือเอกชัยหลาวทอง, เรือกระบี่ปราบเมืองมาร, เรือกระบี่ราญรอนราพณ์, เรือพาลีล้างทวีป, เรือสุครีพครองเมือง, เรือครุฑเหินเห็จ, เรือครุฑเตร็จไตรจักร, เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี
3.เรือพิฆาตจำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี 2,200 นาย ทั้งนี้ งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567