ภาคอุตสาหกรรม หนุนรัฐทบทวนปรับขึ้นค่า Ft พร้อมเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วน กู้เศรษฐกิจไทย
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจ FTI Poll จาก 460 บริษัท ครอบคลุมผู้ประกอบการ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผ่าน 5 คำถาม พบว่า สิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงอันดับแรกคือ ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) 68.30% , อันดับ 2 คือ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า 57.60% , อันดับ 3 คือ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน 55.00% , อันดับ 4 คือ เพิ่มสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน ให้สามารถยกเว้นภาษีได้ 100% ของเงินลงทุน 50.90% และ อันดับ 5 คือโครงการคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 48.50%
ส่วนประเด็นที่ว่า ภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร อันดับ 1 เห็นว่า ควรลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต 63.90% , อันดับ 2 ปลดล๊อคเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน 63.00% , อันดับ 3 ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.50% , อันดับ 4 สนับสนุนให้ผู้ส่งออกวัตถุดิบขาดแคลนให้มาจำหน่ายภายในประเทศก่อน 46.70% และอันดับ 5 สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ 42.40%
กรณีการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันดับ 1 เห็นว่าควรส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ในภูมิภาค 71.10% เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น , อันดับ 2 เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลัก ในระบบ National Single Window (NSW) 57.60% , อันดับ 3 ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ 57.20% , อันดับ 4 ผลักดันการเปิดด่านชายแดนที่ถูกปิดช่วงโควิดและยกระดับด่านชายแดน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า 54.60% และ อันดับ 5 ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local currency) ในการค้าขายผ่านชายแดน 27.20%
ส่วนสิ่งที่ภาครัฐควรปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน อันดับ 1 เห็นว่าควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) แทนค่าแรงขั้นต่ำ 71.10% , อันดับ 2 เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง 60.00% , อันดับ 3 ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้า แรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU โดยเร็ว 54.60% , อันดับ 4 ปรับลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าว 51.70% เช่น ค่าตรวจ COVID-19 เปลี่ยนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจด้วยวิธี ATK, ลดค่าสถานที่กักตัวและลดระยะเวลากักตัว เป็นต้น และอันดับ 5 พิจารณาปรับขั้นตอนการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU ให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกันการแย่งคนงานระหว่างผู้ประกอบการ 49.80%
เมื่อถามถึงสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย อันดับ 1 เห็นว่าควรสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว 64.10% , อันดับ 2 ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit เพื่ออำนวยความสะดวก และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ 60.40% , อันดับ 3 ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน และอาศัยในประเทศ (Long Stay) 60.20% , อันดับ 4 เร่งพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Capital Gain Tax) สำหรับธุรกิจ Start up ให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น 53.00% และอันดับ 5 ยกเลิกมาตรการ Test & Go และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ 50.00%