BUSINESS

เฟดเอ็กซ์ เผย ผู้ประกอบการ SMEs มองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุด

เฟดเอ็กซ์ (FedEx) ร่วมกับ ฟอร์บส์ อินไซต์ (Forbes Insight) เผยรายงานวิจัยชี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกมองว่ามีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุด แต่ยังมีอุปสรรค โดยเฉพาะข้อกำหนดและการดำเนินเอกสารพิธีการศุลกากรที่ซับซ้อนในการขยายธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องก้าวข้ามให้ได้เพื่อมุ่งสู่การค้าในต่างประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการยกระดับข้อตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาคและทวิภาคีขึ้นมาแล้วก็ตาม ขณะที่ดิจิทัลรานส์ฟอร์เมชั่น ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจ

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส บริษัทในเครือเฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx Corp.) (NYSE: FDX) เผยรายงานล่าสุดจากการวิจัยร่วมกับ ฟอร์บส์ อินไซต์ (Forbes Insight) เพื่อหาทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า โดยการสำรวจนี้จะเผยถึงโอกาสในการเติบโตสำหรับธุรกิจขนาดเล็กรวมถึงความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศ

จากการสำรวจพบว่า กว่า 68% มองว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุด ซึ่งปัจจัยเหนี่ยวนำที่กระตุ้นการเติบโตมีส่วนมาจากวัฒนธรรม รวมทั้งการยกระดับข้อตกลงทางการค้า ขณะที่ 88% มีแผนขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลกภายในสามปี อย่างไรก็ตาม ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่าการทำธุรกิจกับคู่ค้า ซัพพลายเออร์ และลูกค้าในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ และ อเมริกาใต้ทำได้ยากขึ้น

ความท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องการหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศรวมถึงในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกันเอง เมื่อพูดถึงข้อจำกัดในการขยายธุรกิจไปสู่การค้าระหว่างประเทศ กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าข้อกำหนดและการดำเนินเอกสารพิธีการศุลกากรที่ซับซ้อนถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาลูกค้าใหม่ ๆ (45%) รวมถึงการหาคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ใหม่ในตลาดโลก (42%) นอกจากนี้จากผลสำรวจยังพบว่า ความเชี่ยวชาญภายในองค์กรด้านกฎระเบียบทางการค้ายังคงมีข้อจำกัด ส่งผลให้การปฏิบัติตามกฎระเบียบของศุลกากรในประเทศต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากขึ้น

คาวอล พรีท ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของเฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบันและการแข่งขันในระดับโลกเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก ฉะนั้นผู้ประกอบการฯ จึงมุ่งเน้นการทำการค้าภายในภูมิภาคฯ เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฯ ยังคงมีอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามให้ได้เพื่อมุ่งสู่การค้าในต่างประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการยกระดับข้อตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาคและทวิภาคีขึ้นมาแล้วก็ตาม

นายศศธร ภาสภิญโญ กรรมการผู้จัดการ เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของภูมิภาคฯ ประกอบกับระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง

รอส แกกนอน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศึกษาวิจัยของฟอร์บส์ อินไซต์ กล่าวว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับอุปสรรคและการเติบโตของตลาดจากมุมมองของผู้ประกอบการส่งออกสินค้ารายย่อยที่ยังคงต้องเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อมุ่งเน้นการปลดล็อกอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงความสามารถทางระบบดิจิทัลที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศประสบผลสำเร็จได้

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายย่อยให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอันดับแรก (57%) โดยธุรกิจขนาดรายเล็กส่วนมากจะจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนระบบด้านไอทีและดิจิทัลเพียง 5% จากรายได้รวมของบริษัท แต่เทคโนโลยีดิจิทัลกลับถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายในการสร้างประสบการณ์ทางด้านการบริการที่ดีให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกคนจะเข้าใจดีว่าเทคโนโลยีทรงประสิทธิภาพเพียงใด แต่ 71% ระบุว่า การพัฒนาหรือใช้กลยุทธ์ดิจิทัลเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยการประเมินและจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (65%) และค่าใช้จ่ายในการอัปเกรดระบบเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น (64%)

Related Posts

Send this to a friend