กรมประมง แนะเกษตรกรเลี้ยง ‘หอยเป๋าฮื้อ’ มูลค่าทางการตลาดสูง
กรมประมง เปิดเผยว่า หอยเป๋าฮื้อ เป็นหอยทะเลที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ช่วยบำรุงทั้งร่างกาย ระบบประสาท สมอง รวมถึงกระดูก และข้อต่อ จึงนิยมทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ หอยเป๋าฮื้อ ยังมีคอลลาเจนที่มีคุณภาพสูง จึงถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งคอลลาเจน”
จากรายงานช่วงปี พ.ศ.2556-2565 พบว่าประเทศไทยนำเข้าหอยเป๋าฮื้อเฉลี่ย 18.35 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 5.81 ล้านบาท โดยทั่วไปส่วนใหญ่ตลาดต้องการหอยที่มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 200-250 กรัม หรือประมาณ 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งหอยเป๋าฮื้อของไทยเข้าสู่ตลาดนี้ได้น้อยมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์หอยเป๋าฮื้อของไทยได้มาจากการจับจากธรรมชาติ
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina เป็นชนิดที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเลี้ยงระดับพาณิชย์ เนื่องจากเพาะง่าย ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ และมีอัตราการแลกเปลี่ยนเนื้อเยอะ ซึ่งกรมประมงได้พัฒนาหอยเป๋าฮื้อชนิดนี้จนสามารถเพาะและผลิตลูกพันธุ์จำนวนมากได้ต่อเนื่องทั้งปี ปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตจากการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกรสู่ตลาดภายในประเทศแล้ว คาดว่าในอนาคตจะมีการส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อติดปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตหอยที่สูง กรมประมงจึงมีนโยบายให้นักวิชาการทดลองเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อพร้อมจำหน่ายลูกพันธุ์แก่เกษตรกรเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง พร้อมให้คำแนะนำในการเพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิด และยังมีแผนที่จะปล่อยลูกพันธุ์หอยเป๋าฮื้อคืนสู่ท้องทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณในธรรมชาติให้มากขึ้น
นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กล่าวว่า หอยเป๋าฮื้อชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมีประมาณ 22 ชนิด แต่ประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด ที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาเพาะเลี้ยง ได้แก่ Haliotis asinina, H. ovina และ H. varia
H. asinina เป็นชนิดที่กรมประมงเพาะพันธุ์ได้ มีลักษณะเด่นคือ มีเปลือกติดกับกล้ามเนื้อเท้าขนาดใหญ่ แข็งแรง ไม่มีฝาปิดเปลือก คล้ายจานรี มีสีเขียวเข้ม น้ำตาลหรือแดงคล้ำ ตามขอบเปลือกมีรูเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวยาวไปจนถึงขอบปาก รูบนเปลือกของหอยสร้างเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเมื่อหอยโตขึ้น
การเพาะเลี้ยงพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยพ่อแม่พันธุ์หอยจะมีความสมบูรณ์เพศตลอดทั้งปี แต่ไข่จะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ส่วนการปล่อยไข่ในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับขนาดของแม่หอย หากมีขนาดเล็กจะให้ปริมาณไข่น้อย ดังนั้น เพศเมียที่เหมาะสมนำมาเพาะจะมีขนาดตั้งแต่ 5.5 ซม.ขึ้นไป ซึ่งจะให้ไข่แต่ละครั้ง 200,000 – 600,000 ฟอง/ตัว อัตราการฟัก 60-80% และพัฒนาถึงระยะเกาะวัสดุประมาณ 30% มีอัตรารอด 0.5% เป็นลูกหอยขนาด 1-2 มม.
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.เตรียมสถานที่ที่จะเพาะเลี้ยงหอย ต้องเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้ทะเลเพราะจะต้องมีการสูบน้ำให้ไหลหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ และต้องห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย
2.เตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงพันธุ์หอย และที่หลบซ่อนของตัวหอยเป๋าฮื้อ เช่น กระเบื้องมุมโค้ง แผ่นพีวีซีงอเป็นรูปตัว “V” จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อพัก โดยน้ำจากบ่อพักจะผ่านเข้าสู่บ่อกรอง ซึ่งมีวัสดุจำพวกกรวดและทรายช่วยกรองน้ำก่อนแล้วจึงใช้ถุงกรอง โดยเป็นผ้าสักหลาดมีขนาดช่องตา 5–10 ไมครอน กรองอีกครั้งที่ปลายท่อส่งน้ำก่อนเปิดลงสู่บ่อเลี้ยง
3.หาพันธุ์หอยเป๋าฮื้อมาเลี้ยงลงในบ่อ
4.เตรียมอาหารให้แก่หอย มีทั้งสาหร่ายผมนาง สาหร่ายสีแดงชนิดต่าง ๆ และอาหารสำเร็จรูป โดยให้สาหร่ายไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักหอย ทุก ๆ 2 วัน หรืออาหารสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 3 ของน้ำหนักหอย ให้วันละครั้ง
5.จัดการคุณภาพน้ำในบ่อให้ดีอยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสียซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต
ทั้งนี้ กระบวนการช่วงเพาะเลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะสามารถเก็บผลผลิตไปขายได้ ซึ่งจากการสำรวจราคาหอยในตลาดปัจจุบัน พบว่าหอยเป๋าฮื้อขนาด 3-5 ซม. ราคาขาย 1,000 บาท/กก. และขนาด 7 ซม. ราคาขายขั้นต่ำ 1,500 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อจะได้ราคาดี แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลานาน ทำให้ระหว่างการเพาะเลี้ยงไม่มีรายได้ อีกทั้งยังมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าแรงงาน ดังนั้น การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อแบบผสมผสานจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ฟาร์ม กระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ จากการศึกษาสัตว์น้ำชนิดที่เพาะเลี้ยงแบบผสมผสานในฟาร์มหอยเป๋าฮื้อ ควรเป็นสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ใช้พื้นที่อนุบาลไม่มากและตลาดมีความต้องการสูง เช่น หอยหวาน ชนิด Babylonia areolata หรือปลาทะเลสวยงามชนิดต่าง ๆ ปูม้า และสาหร่ายทะเล เป็นต้น