เอสซีจี ผนึกพันธมิตร สร้างนวัตกรรมฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ผ่านเรื่องราวจากวรรณคดี
เอสซีจี พร้อมพันธมิตรสโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต, สโมสรโรตารีสากลภาค 3330 ประเทศไทย, สโมสรโรตารีสากลภาค 3600 ประเทศเกาหลีใต้, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันสร้างนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ภายใต้โครงการ “มหัศจรรย์ประติมากรรมใต้ท้องทะเล” (The Magical of Save Underwater World)
ชิ้นงานประติมากรรมชิ้นเอก “หนุมานนิมิตกาย” เป็นเหมือนบ้านปะการัง ขนาดกว้าง 19.5 เมตร ยาว 20.5 เมตร สูง 6.4 เมตร พาวิลเลียนใต้ท้องสมุทร ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี SCG 3D Printing เพื่อเป็นวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงที่สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ด จ.ภูเก็ต วันที่ 12 มีนาคม – 5 เมษายน 2568 ก่อนนำลงติดตั้งที่อ่าวสยาม เกาะราชา แหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ
นางสาวกัลยา วรุณโณ New Business Development & Growth Director ธุรกิจซีเมนต์และกรีนโซลูชันส์ ใน เอสซีจี กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่เอสซีจีได้รับโจทย์ให้ถ่ายทอดแนวคิดวรรณคดีไทยสู่ประติมากรรมชิ้นเอกหนุมานนิมิตกาย ตัวละครในวรรณคดี โดยเริ่มต้นออกแบบด้วยเทคโนโลยี SCG 3D Printing และพิมพ์ขึ้นรูปด้วยปูนมอร์ตาร์ สูตร Low Carbon ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 1,040 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยี SCG 3D Printing นอกจากจะเป็นนวัตกรรมก่อสร้างที่ออกแบบชิ้นงานที่มีความยากและซับซ้อนแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูทะเลไทย ผ่านการออกแบบที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ โดยสามารถปรับแต่งแสงและเงาให้เข้ากับพื้นที่ รองรับการเติบโตของปะการังแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ให้มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
การดำเนินงานครั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือโดย สมาคมศิลป์ภูเก็จ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และสโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต ในการขยายต่อโครงการฟื้นฟูปะการัง ผ่านเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ภายใต้ชื่อ “รายา” บูรณาการศิลปะให้เข้ากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเอสซีจีเป็นผู้ผลิตชิ้นงาน “ทศกัณฑ์” ต่อจาก “หนุมานนิมิตกาย” คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2025