BUSINESS

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ รับมือความต้องการ ความมั่นคงทางอาหาร ในไทยและภูมิภาคเอเชีย

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ หรือ (NSC) จัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – Anuga Asia 2023 ในปีนี้ โดยได้เชิญผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์ กว่า 20 ราย มาจัดแสดงอาหารทะเลคุณภาพพรีเมียมหลากหลายประเภท รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ล้ำสมัย แสดงให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตที่ดี และโอกาสด้านการค้าที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนผู้ประกอบการรายใหญ่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรับมือกับความต้องการ ความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นางแอสทริ เอมิเลีย เฮลเลอ เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย และ นายคริสเตียน เครเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) มาร่วมเป็นแขกพิเศษ มีการจัดสัมมนาพิเศษเกี่ยวกับอาหารทะเล และการสาธิตวิธีการทำอาหารโดย เชฟ จิมมี่ ช๊ก เชฟกิตติมศักดิ์ของ Seafood from Norway ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างสรรค์สูตรอาหาร ที่ผสมผสานรสชาติแบบเอเชีย เข้ากับการปรุงอาหารแบบตะวันตก

ดร.อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “อาหารทะเลจากนอร์เวย์ เช่น แซลมอน ฟยอร์ดเทราต์ และนอร์วีเจียนซาบะ คือผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำฟาร์มและการประมงแบบยั่งยืน จนกลายมาเป็นวัตถุดิบที่คนไทยส่วนใหญ่ ชื่นชอบตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักในด้านนวัตกรรมการประมง และความยั่งยืนในประเทศไทย ตราสัญลักษณ์ Seafood from Norway ที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ยังให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเล รวมไปถึงผู้บริโภคและธุรกิจในท้องถิ่น ในการมองหาแหล่งโปรตีนทางเลือกคุณภาพสูงอีกด้วย ในปี 2565 นอร์เวย์ส่งออกอาหารทะเลปริมาณ 42,636 ตัน รวมมูลค่ากว่า 9.37 พันล้านบาท มายังประเทศไทย ผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ด้านอาหารจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ทำให้อาหารทะเลจากนอร์เวย์กลายมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ได้อย่างดี”

ในทุกๆปีอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ส่งมอบอาหารทะเลเทียบเท่ากับมื้ออาหารจำนวน 40 ล้านมื้อต่อวัน เป็นปริมาณ 2.9 ล้านตัน และมูลค่ารวม 5.1 แสนล้านบาท ให้แก่ 150 ประเทศทั่วโลก การจัดการทรัพยากรทางทะเล อย่างมีความรับผิดชอบมานานกว่าศตวรรษคือหัวใจหลักของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ นอร์เวย์ปรับเปลี่ยนจากการจับปลาอย่างเสรี มาสู่กฎระเบียบที่เข้มงวด และมีการกำหนดมาตรฐาน การจัดการความยั่งยืนทางทะเลจากการเรียนรู้บทเรียนในอดีต

ด้าน นายเออร์ลิง ริเมอร์สตัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ กล่าวว่า “เป้าหมายสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของประเทศนอร์เวย์ คือการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพในราคาที่จับต้องได้สำหรับทุกคน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ได้มากที่สุดจากกระบวนการนี้ นอร์เวย์เป็นผู้บุกเบิก เรื่องความยั่งยืนมาหลายศตวรรษ ทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ การประมงไปยังประเทศต่างๆ ที่ต้องการเริ่มต้นทำการประมงอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ ทำให้เราสามารถจัดสรรอาหารทะเลคุณภาพ ที่ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงได้ และคงความอุดมสมบูรณ์ ให้กับท้องทะเลได้ในเวลาเดียวกัน เราเชื่อว่าการดำเนินงาน ร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้อาหารทะเลจากนอร์เวย์ ช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของโลก ผ่านการผลิตโปรตีนที่มีคุณภาพ และยั่งยืนได้ โดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้รายงานล่าสุดจากองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ เผยว่าในปี 2564 ประชากรจำนวน 2.3 พันล้านคน หรือเกือบร้อยละ 30 ของประชากรโลก ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ผู้คนกว่า 702 ถึง 828 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้คนกว่า 670 ล้านคน ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ได้สร้างความตึงเครียดต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และช่องทางการค้า ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น และเกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งอาหาร แผนความมั่นคงอาหารสู่ปี 2030 ของเอเปค เน้นการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึง แหล่งอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่จับต้องได้ เพื่อตอบสนองความต้องการ ด้านอาหารของผู้คนทั่วโลก

Related Posts

Send this to a friend