BUSINESS

NEA BizTalk Series ปี 2 เดินหน้าติดอาวุธผู้ประกอบการ ก้าวทันการค้าโลก

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จัดงานเสวนา สานต่อโครงการเสวนาออนไลน์ “NEA BizTalk Series : ก้าวทันการค้าโลก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยระดมทัพกูรูผู้เชี่ยวชาญแชร์ประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ เจาะลึกกลยุทธ์การส่งออก 6 ตลาดการค้าสำคัญ “ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์-แอฟริกา-รัสเซีย-ยุโรปกลาง-ยุโรปตะวันตก/อังกฤษ-อเมริกาเหนือและเม็กซิโก” ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2566 พร้อมกันนี้ได้จัดเสวนาเปิดเวทีครั้งที่ 1 ในประเด็น “ติดอาวุธผู้ประกอบการไทย ลุยตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์” ยกระดับผู้ประกอบการไทย เพิ่มโอกาสขยายส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก

นางอารดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า “งานเสวนาออนไลน์ “NEA BizTalk Series : ก้าวทันการค้าโลก” ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นผลักดันการส่งออกไทย ด้วยการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพระดับสากล เพื่อสร้างโอกาสในยุคการค้าใหม่ ในปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) ประเทศไทยส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์
มีมูลค่าประมาณ 11,853 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดแอฟริกา มูลค่า 6,062 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดรัสเซีย มูลค่า 536 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดยุโรปกลาง มูลค่า 2,257 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดยุโรปตะวันตก/อังกฤษ มูลค่าประมาณ 26,073 ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดอเมริกาเหนือและเม็กซิโก มูลค่า 49,462 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกของไทยไปยัง 6 ตลาดดังกล่าว มีมูลค่ารวมประมาณ 96,243 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะยังมีโอกาส และช่องทางการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง มาจากปัจจัยหลักได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคเอกชนไทย”

“โครงการเจาะลึกตลาดต่างประเทศในยุคการค้าใหม่ ปีที่ 2 มีเป้าหมายที่จะเติมเต็มความรู้ให้ผู้ประกอบการในทุกกลุ่มสินค้าและบริการ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่มีศักยภาพ ในการส่งออกไม่ต่ำกว่า 500 ราย ให้รับทราบสถานการณ์การค้า และข้อมูลเชิงลึกของตลาดเป้าหมาย ที่เป็นปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว ได้ตรงกับความต้องการของตลาด และจะส่งผลให้มีศักยภาพการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ตรง เติมเต็มองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปรับกลยุทธ์ การส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย สามารถรับมือกับปัญหา และอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคการค้าใหม่ เช่น ปัญหาด้านโลจิสติกส์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ส่งออกนำความรู้ ไปพัฒนาธุรกิจเพื่อก้าวสู่โอกาสทางการค้าในเวทีตลาดโลกแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพการส่งออก และสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย”

Related Posts

Send this to a friend