KKP ปรับ GDP เหลือ 3.2% หวั่นราคาน้ำมันกระทบไทย หนักกว่าชาติอื่น
KKP ปรับ GDP เหลือ 3.2% หวั่นราคาน้ำมันกระทบไทย หนักกว่าชาติอื่น จากโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น” โดยประเมินว่า ผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะมีการพึ่งพาพลังงานในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
KKP Research ปรับการคาดการณ์ GDP ปี 2022 ในกรณีฐานเหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดยประเมินว่า ความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย และปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.3% สำหรับทั้งปี เป็น 4.2% จากต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในกรณีเลวร้าย ประเมินว่า มีโอกาสที่มาตรการคว่ำบาตรอาจจะรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ซึ่งจะดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็น 5.1% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียง 2.7%
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงไม่ต่างจากในอดีต ขณะที่ที่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากตัวเลขอัตราการบริโภคพลังงานต่อ GDP หรือ Energy intensity ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาแล้วในอดีตช่วงราคาน้ำมันแพง แต่โครงสร้างนโยบายยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ทำให้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ไทยจำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นเพื่อนำเข้าน้ำมันและส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มเติมได้มากโดยทุก ๆ 10% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มเติมประมาณ 0.3%-0.5% ของ GDP หรือเทียบเท่ากับการนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนถึง 1 – 1.6 ล้านคน หลายครั้งเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นจะเห็นค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกันกับเงินเฟ้อของไทยที่ตอบสนองต่อราคาพลังงานมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคจากการบริโภคพลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าแม้จะมีมาตรการอุดหนุนราคาจากภาครัฐบางส่วนแล้วก็ตาม
KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงผลกระทบในขั้นแรก แต่ยังมีโอกาสที่ราคาสินค้าอื่น ๆ จะสูงขึ้นตามมาได้อีกซึ่งเกิดจาก 2 ประเด็น คือ ราคาน้ำมันทำให้ภาระทางการคลังสูงขึ้น ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าและราคาสินค้าอื่นๆที่เป็นสินค้าควบคุม อาจมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามต้นทุน
ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานกำลังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีความจำเป็นที่รัฐบาลอาจเข้าดูแลและบริหารจัดการ แต่ด้วยต้นทุนการคลังของการอุดหนุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นความท้าทายจากต่อฐานะทางการคลังมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนใหม่อีกครั้ง ควรเน้นมาตรการที่ไม่เป็นการบิดเบือดตลาด ลดความเสี่ยงจากขาดแคลนสินค้า และการกักตุนสินค้า การอุดหนุนโดยการตรึงราคาน้ำมัน อาจไม่ใช่วิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในภาวะที่ภาระการคลังสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการช่วยเหลือที่มีลักษณะบิดเบือนราคาตลาด ทำให้คนไม่ลดการใช้พลังงานลงเมื่อราคาแพงขึ้น และอาจเป็นการให้เงินอุดหนุนกับกลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการอุดหนุน ทำให้ต้นทุนภาคการคลังสูงเกินไปนอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาเป็นการช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มผู้มีฐานะที่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของภาครัฐ สูงเกินความจำเป็น