BUSINESS GREEN BUSINESS

EEC Academy ชี้ Green Real Estate ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความคุ้มค่าทางธุรกิจ แนะภาครัฐจูงใจมาตรการภาษี

การก้าวเข้าสู่สังคม Carbon Net Zero จะเกิดขึ้นไม่ได้หากทุกฝ่ายในภาคธุรกิจและประชาชนไม่ร่วมมือกัน
จะเห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วต่างหันมาให้ความสนใจและสนับสนุน รวมทั้งลงทุนในกิจกรรมต่างๆ
ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอน สำหรับในเมืองไทย

บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (EEC Academy) ผนึก Thai ESCO สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ผลักดันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยมีคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านรูปแบบ “Climate Finance and Investment” ผ่านการจัดงานใหญ่แห่งปี The Nova Expo 2025 “นวัตกรรมสีเขียวเปลี่ยนโลก” รวมเทคโนโลยีสีเขียวเพื่ออนาคตยั่งยืน วันที่ 12–14 มีนาคม 2568 ที่ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ดร.เกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริหาร EEC Academy กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 30-50 ล้านตันต่อปี หากรวมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากการดำเนินงาน ตัวเลขอาจจะสูงถึง 150 ล้านตันต่อปี จึงจำเป็นต้องปฏิวัติ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบและวางแผนกระบวนการ

ในการประหยัดพลังงานของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักธุรกิจยังมองว่าเป็น Cost ในการติดตั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์จะทำให้ต้องใช้เงินที่มากขึ้น ขณะที่นวัตกรรมที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการ Investment ที่ลงทุน สามารถลดการใช้พลังงาน และช่วยโลก พร้อมกับประหยัดเงินที่ต้องจ่ายไปกับค่าพลังงานในอนาคต เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนในระยะยาว 5-7 ปี

ดร.เกชา ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจต้องเริ่มทำความเข้าใจ และเร่งปรับตัว ก่อนจะเป็นทฤษฎีม้าตาย ม้าตัวหนึ่งที่เคยเก่งมาก แต่วันหนึ่งตายลง คนจะโฟกัสเพียงทำอย่างไรจะฟื้น แต่ไม่ยอมก้าวข้าม และยอมรับ เช่นเดียวกับหลายธุรกิจที่ไม่ปรับตัวจนถึงวันที่ต้องปิดฉากลงไป ผู้ประกอบการควรปรับตัวและพาธุรกิจไปสู่ Go Green ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ตามแนวทาง ESG

ผศ.ดร.สุกุลพัฒน์ คุ้มไพศาล สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คณะสถาปัตยกรรมสาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็น และสร้างความคุ้มค่าทางธุรกิจ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสู่อสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืน และการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจอสังหาฯ กำลังเผชิญ

ที่ผ่านมาดีธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยยังมีแนวคิดหลักในการจัดหา Location ที่ดีที่สุด ก่อสร้างแล้วต้องได้ผลตอบรับที่ดี โครงการขาดทุนน้อยที่สุด ขาดมุมมองว่าทำเลหากมีการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ และชุมชนโดยรอบ ถึงระดับที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้

สำหรับอนาคตของอสังหาฯ ที่ยั่งยืน ยังเป็นประเด็นด้านความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกเริ่มตระหนักเกี่ยวกับอสังหาฯ เพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดนโยบายและข้อบังคับที่จูงใจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของความต้องการจากผู้บริโภคต่ออสังหาฯ ที่ยั่งยืน การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และการสร้างความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างโซลูชันที่ปรับขนาดได้และมีความคุ้มทุน

นายวิชัย รายรัตน์ ผู้อำนวยการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCG และเลขาธิการเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) กล่าวว่า การที่ไทยจะไปสู่ Net Zero ต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือที่มาจากความตั้งใจของแต่ละบริษัท ที่มีเป้าหมายจะไปสู่การลดคาร์บอนของแต่ละบริษัท ที่ต้องมีการเกื้อหนุนและทำงานร่วมกัน พร้อมแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ส่วนภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอาคารที่มีคาร์บอนต่ำ

สำหรับแนวทางในการที่จะทำให้ภาคเอกชนลดผลกระทบเรื่องการปล่อยคาร์บอนลงได้ ต้องมองเรื่องการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ การหาแหล่งพลังงานสะอาดเข้ามาเติม ขณะเดียวกัน การนำระบบเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในอาคาร จะช่วยลดประหยัดพลังงานได้ดี สามารถบริหารจัดการตามความหนาแน่นของคนในแต่ละอาคาร และมีส่วนสนับสนุนเรื่องอาคารประหยัดพลังงาน ดังนั้นกระบวนการที่จะเร่งให้เกิดการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ภาษี และการแข่งขัน โดยในอนาคตอาจจะเห็นสินค้าที่บ่งชี้เรื่องคาร์บอนออกมาให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้มากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat