เจาะลึกทีม Knock Everything ตลอดไปรฯ นักสร้างแบรนด์รุ่นใหม่ กับกลยุทธ์ เปลี่ยนให้ปัง ด้วยพลังการส่ง
ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดเวทีการประกวด “J-MAT Brand Planning Competition #2” ภายใต้โจทย์ เปิดมุมมองคนรุ่นใหม่ ปั้นไปรษณีย์ไทยให้มากกว่าการส่ง โดยมีนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ส่งแผนการตลาดเข้าร่วมประกวดกว่า 1,000 คน รวม 175 ทีม จาก 40 มหาวิทยาลัย และได้ทีมผู้ชนะคว้ารางวัลชนะเลิศ จากทีม Knock Everything ตลอดไปรฯ ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิต 6 คน จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วย นางสาววรัณย์พรจันทนยิ่งยง,นายศุภกิตติ์ ชาง,นายภาสวุฒิ ประสิทธิ์วรนันท์,นางสาวศตพร เวชทัพ,นายนนท์ปวิธ สุวัตถิกุล,นางสาวสีตลา สุวิวัฒน์ธนชัย และนางสาวรมิตา จุฑาสันติกุล ที่ได้นำเสนอกลยุทธ์ร่วมปั้นแบรนด์ไปรษณีย์ไทย ให้พัฒนาและทันสมัยมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ทีม Knock Everything ตลอดไปรฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศ จากเวที J-MAT ที่ประเทศไทยแล้ว ยังได้รับโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในชื่อทีม “Knock Everything Forever” ไปโชว์ความสามารถบนเวทีประกวดแผนการตลาด และการสร้างแบรนด์ระดับนานาชาติ “Global Brand Planning Competition 2023” ที่จัดโดยสมาพันธ์การตลาดโลกจีน (Global Chinese Marketing Federation – GCMF) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้นำเสนอแผนการสร้างแบรนด์ “ไปรษณีย์ไทย” ได้รับรางวัลโกลด์อวอร์ด (Gold Award) และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (Second Runner Up) ประเภทแผนการตลาดภาษาอังกฤษ
สำหรับมุมมองของทีม Knock Everything ตลอดไปรฯ ที่ประกอบด้วยนิสิตทั้ง 6 คน มีมุมมองต่อไปรษณีย์ไทย กับการทรานส์ฟอร์มแบรนด์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ระบุว่า “จากโปรเจกต์ “เปลี่ยนให้ปัง ด้วยพลังการส่ง หรือ Power of Change” เป็นแผนการตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ หรือ GenZ เราต้องทำความเข้าใจอินไซด์ของเขาก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลก็พบว่า GenZ ไม่มีจุดที่เชื่อมโยงกับไปรษณีย์ไทยเลย คนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ส่งของกับไปรษณีย์ไทย และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับไปรษณีย์ไทย และยิ่งไปกว่านั้น GenZ ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่ได้มองว่าอยู่ในชีวิตประจำวัน ทางทีมจึงพัฒนาไอเดียที่ตอบโจทย์จริงๆ และต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นการมีอยู่ของไปรษณีย์ไทยก่อน ให้รู้จักมากขึ้น รู้จักแล้วรู้สึกรัก เมื่อรักแล้วพร้อมที่จะใช้บริการต่อเนื่องไปยาวๆ ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่เราจับต้อง Touch Point ของ GenZ ให้ได้”
ทั้งนี้การปรับลุคของแบรนด์ไปรษณีย์ไทย ผ่านแผนการตลาดที่ต้องการเจาะไปที่ GenZ มีความท้าทายมากขึ้น เมื่อ GenZ รู้จักแบรนด์ แต่ยังไม่รู้ว่าไปรษณีย์ไทย มีบริการอะไรบ้าง แต่จากข้อมูลที่ทางทีมได้สัมภาษณ์มา ทุกคนรับรู้และให้คะแนน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นทาง และเป็น Top of mind อยู่แล้ว แต่ทางทีมพบว่าไปรษณีย์ไทย ในสายตาของ GenZ ไม่เชื่อว่าไปรษณีย์ไทยเจ๋ง ดังนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไร ให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าไปรษณีย์ไทยที่ดูเก่าแก่มีดี และพร้อมที่จะให้ธุรกิจของคนกลุ่มนี้มันไปได้ไกลที่สุด ความท้าทายจึงเริ่มขึ้นเลย เพราะต้องมาคิดต่อว่า ต้องทำอย่างไรให้ GenZ มีจุดเชื่อมโยงกับไปรษณีย์มากขึ้น
และทีม Knock Everything ตลอดไปรฯ ได้เลือกกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่ม E-commerce ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และกลุ่ม GenZ ที่ต้องการเป็นพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ โดยมองว่าการเจาะกลุ่มการตลาด GenZ ให้ได้อยู่หมัดนั้นต้องสร้าง Touch Point จะต้องไม่ทำอะไรเดิมๆ พยายามปรับไอเดียด้วยการคุยกับ GenZ จริงๆ และนำเสนอวิธีการเล่า ให้ออกมาเป็น storytelling ที่จะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นที่สุด โดยบอกเล่าบริการต่างๆ ของไปรษณีย์ไทย ให้ GenZ เห็นว่าเป็นบริการที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เล่าเรื่องออกมาเป็นภาพ ใช้ภาษาสื่อสารผ่านความต้องการที่เป็นอินไซด์ของ GenZ จริงๆ อย่างเช่น บริการขนส่งของที่แตกหักง่าย ก็จะเข้ากันกับกลุ่ม E-commerce ที่ทำแจกันเซรามิก หรือสินค้า DIY ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ส่งสินค้าอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยส่งกับไปรษณีย์ไทย ก็ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้ และเปิดใจส่งกับไปรษณีย์ไทย
สำหรับ Deliver Power of Change คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทีมต้องการนำมาสื่อสาร และทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจากการที่ทีมได้รับเงินสนับสนุน ในครั้งแรกมานั้น ทีมได้มีการอินไซด์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีวัยรุ่นจำนวนอย่างน้อย 7 ล้านคนที่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ด้วยความไม่รู้ว่าขนส่งแบรนด์ไหนที่ดีและเหมาะสม จึงต้องทำให้คำว่า Change เกิดขึ้นด้วยมุมมุมอง “เปลี่ยนมาชอบ เปลี่ยนมาใช้ และเปลี่ยนมารัก”
โดยเปลี่ยนมาชอบจะเกิดจากมุมมองว่า แบรนด์ไปรษณีย์ไทยนั้นมีดีอย่างไร เปลี่ยนมาใช้คือการทำให้เห็นโซลูชันที่โดดเด่น บริการที่พร้อมซัพพอร์ตทุกความฝัน ทุกเป้าหมาย แค่เปลี่ยนมาใช้พี่ไปรฯ ความฝันไหนก็สำเร็จได้ทันที และเปลี่ยนมารักคือหลังจากที่ใช้แล้ว ยังมุ่งมั่นที่จะใช้ต่อด้วยความประทับใจ และคุณภาพของแบรนด์ที่ส่งมอบให้ในทุกๆ วัน เข้าใจว่าไปรษณีย์ไทยจะช่วยเติมเต็มฝันของทุกคนได้อย่างไร พร้อมที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน และเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในทุกๆ ยุค ลับคมแผนการตลาด จากพลังผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
นอกจากแนวคิดด้านการสร้างแบรนด์สุดสร้างสรรค์ ที่มาจากความเก่งของน้องๆ แล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาก็มีส่วนสำคัญ ในการสนับสนุน และเป็นแรงผลักดันให้กับน้องๆ
ด้าน อาจารย์วรรษยุต คงจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ และผู้ช่วยคณบดีด้านสื่อสารองค์กรและกิจกรรมพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นิสิตทีมนี้แสดงออกให้เห็นตั้งแต่ครั้งแรกว่ากล้าคิด กล้าทำ เป็นคนรุ่นใหม่ในอยู่ในยุคดิจิทัล พร้อมจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เวลาเราสอนเขาจะตั้งใจฟังและเมื่อมีคำถามเขาจะถามทันที จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สิ่งที่จะเสริมให้เขาได้คือ การสร้าง mindset การเป็นผู้ประกอบการ เขาจะคิดทุกอย่างในเชิงของนวัตกรรม
“ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ในองค์กรไหน หรือไปทำธุรกิจของตัวเอง เขาจะมองภาพออกว่าว่าทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ และมองถึงการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมทางด้านความคิด การแก้ปัญหา และเสริมโอกาส ซึ่งทั้งหมดเป็น soft skill ที่ผมคิดว่าจำเป็นสำหรับเด็กในยุคนี้ และในฐานะอาจารย์ต้องทำให้เด็กมั่นใจว่าเขาเองมีศักยภาพ ในการเปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อเขาเรียนจบและได้เข้าไปทำงานในองค์กรที่เปิดกว้างทางความคิดเห็น เด็กก็จะเป็นได้ทั้ง Push and pull ซึ่งบุคลากรแบบนี้แหละที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ ซึ่งผมมองว่าการเรียนการสอนต่อจากนี้ไป จะต้องผลักดันให้นักศึกษาได้มีพื้นที่แสดงออก และมี mindset เชิงนวัตกรรม ซึ่งก็หวังว่าทักษะต่างๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ติดตัวเขาไปใช้ในอนาคตได้”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งทีมที่ได้ไปโชว์ความสามารถถึงสิงคโปร์ คือ ทีมไปรดีมาดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยจากเวที J-MAT Brand Planning Competition #2 โดยนำเสนอแผนการสร้างแบรนด์ “ThailandPostMart” ในชื่อทีม “POST sMART” และได้รับรางวัลโกลด์อวอร์ด (Gold Award) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (First Runner Up) ประเภทแผนการตลาดภาษาอังกฤษ อีกด้วย