นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ทุกประเทศ) วันนี้ (28 ก.พ.63) ว่าได้เชิญทูตพาณิชย์จากสำนักงานพาณิชย์ของไทยทั่วโลกมาประชุมร่วมกันพร้อมกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงรวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมรับความจริงว่านอกจากเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามการค้า รวมทั้งกรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศ และภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้
สำหรับตัวเลขของการส่งออกในเดือนมกราคมของปีนี้ ถือว่าอยู่ในตัวเลขที่ใช้ได้เพราะส่งออกเป็นบวก 3.35% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เป็นบวกในรอบหกเดือนและตลาดที่เป็นบวกชัดเจนประกอบด้วยสหรัฐอเมริกาบวกร้อยละ 9.9 ตลาดจีนบวกร้อยละ 5.2 แม้จะประสบปัญหาโควิด 19ตลาดไต้หวันเป็นบวกร้อยละ 13.1 สำหรับสินค้าที่ส่งออกและเป็นบวกคือสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา บวกร้อยละ 12 ซึ่งตัวเลขเป็นบวกในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากการที่ตนนำคณะไปลงนาม MOU และเร่งรัดการส่งมอบในปีที่ผ่านมา และ สินค้าไก่สดแช่แข็ง-ไก่สดแปรรูปเป็นบวกร้อยละ 9.5 เครื่องดื่มเป็นบวกร้อยละ 2.8 มอเตอร์ไซค์บวกร้อยละ 35.4 เฟอร์นิเจอร์บวกร้อยละ 29.9 เครื่องสำอางบวกร้อยละ 13.8 เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่าเมื่อประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวบวกกับ COVID-19 ยังไม่ชัดเจนว่าจะยืดเยื้อไปมากน้อยแค่ไหน กระทรวงพาณิชย์จำเป็นที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการส่งออกให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้ได้ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวง กับภาคเอกชน
โดยสิ่งที่ต้องปรับคือกลยุทธ์ทางการตลาดในการส่งออกประกอบด้วยตลาดสินค้าบริการและแผนปฏิบัติการต้องมีรายละเอียดเชิงรุก กลยุทธ์เชิงรุกที่ชัดเจน สำหรับตลาดที่กำหนดไว้เดิม 18 ประเทศที่สรุปร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่ปลายปียังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแต่อาจจะต้องมีการปรับเรื่องเงื่อนเวลา ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นและ COVID-19 เป็นหลักด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่