ASEAN

6 ชาติสมาชิกกรอบแม่โขง-ล้านช้าง ดันประชุม รมต.ปราบอาชญากรรมข้ามแดน-คอลเซ็นเตอร์ เร็วที่สุดก่อนสิ้นปี

6 ชาติสมาชิกกรอบแม่โขง-ล้านช้าง ดันประชุมรัฐมนตรีปราบอาชญากรรมข้ามแดน-คอลเซ็นเตอร์ โดยเร็วที่สุดก่อนสิ้นปี พร้อมจัดการฝุ่นควัน และบริหารทรัพยากรน้ำโขงร่วมกัน

วันนี้ (16 ส.ค. 67) มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 9 ณ จ.เชียงใหม่ ซึ่งนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสะเหลิมไซ กมมะสิต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ สปป.ลาว นายตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา นายซก เจินดาโซเพีย รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา และ น.ส.เหวียน มินห์ ห่าง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเวียดนาม

ที่ประชุมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สู่อนาคตร่วมของภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้างที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและยั่งยืน” (Towards the shared future of safer and sustainable Mekong-Lancang Region) นั้น ได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง – ล้านช้าง และร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่ง 2 ฉบับท้ายนี้เป็นประเด็นซึ่งไทยผลักดัน

ในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างนั้น ที่ประชุมได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรง และความร้ายแรงของภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามพรมแดน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพนันออนไลน์ข้ามพรมแดน การฉ้อโกงผ่านช่องทางโทรคมนาคม การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การก่อการร้ายอาชญากรรมไซเบอร์ การลักลอบขนอาวุธ และอาชญากรรมอื่น ๆ ซึ่งทำลายสันติภาพและความมั่นคงของอนุภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้าง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ที่ประชุมย้ำความตั้งมั่นในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามพรมแดนและการประกันความมั่นคงสาธารณะ โดยเรียกร้องให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดและลึกซึ้งยิ่งขึ้นในทุกระดับ มีการเคารพหลักอธิปไตยของแต่ละประเทศและประกันให้มีการสอดประสานกับข้อริเริ่มอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก เพื่อปกป้องเสถียรภาพของสังคมตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น กับความร่วมมือในการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และยับยั้งการฉ้อโกงผ่านช่องทางคมนาคมหรือทางออนไลน์ การพนันออนไลน์ รวมถึงสนับสนุนให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและยกระดับการติดตามการควบคุมชายแดน

ที่สำคัญ ที่ประชุมยังตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อข้อริเริ่มที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง เพื่อให้บรรลุความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายในสิ้นปี 2567 นี้ หรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง – ล้านช้างนั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและยังทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม และได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความตระหนักรู้ของสาธารณะและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการกับมลพิษทางอากาศในภูมิภาค ทั้งยังสนับสนุนการระดมทรัพยากรทางการเงิน ทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดหาทรัพยากรที่เพียงพอในการป้องกันมลพิษทางอากาศ ตลอดจนสนับสนุนให้หน่วยงานของประเทศสมาชิกที่ดูแลในประเด็นเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม เพิ่มการมีส่วนร่วม และร่วมกันดำเนินกิจกรรมความร่วมมือรวมถึงมาตรการที่จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลดีแก่ประชาชนในอนุภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้างอย่างยั่งยืน

ที่ประชุมยังให้การรับรองข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง โดยเน้นย้ำว่าสมาชิกทั้ง 6 ประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันและใช้แม่น้ำสายเดียวกัน จึงต้องมีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ การใช้ประโยชน์ ปกป้องและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในการรับประกันความมั่นคงด้านอุปทานของทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงานในระดับภูมิภาค ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันขยายเครือข่ายหุ้นส่วนสำหรับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีความสนใจในการส่งเสริมการใช้ ปกป้อง และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว สันติภาพ และการพัฒนาคุณภาพสูงในภูมิภาค

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat