ASEAN

นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย

นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย เน้นย้ำจุดแข็งร่วมกัน ผ่านการผลักดันความเชื่อมโยง การพัฒนาด้านดิจิทัล และความร่วมมือในกรอบอื่นๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเสถียรภาพในภูมิภาค

วันนี้ (12 พ.ย. 65) ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 19 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายชัคทีป ธันขระ รองประธานาธิบดีอินเดีย และเลขาธิการอาเซียน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ตลอดจนทบทวนความคืบหน้า และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในทุกมิติ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความร่วมมือของอาเซียนและอินเดียได้พัฒนาก้าวหน้าไปในทุกมิติบนพื้นฐานของความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางอารยธรรม อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่าอาเซียนและอินเดียมี “จุดแข็งร่วมกัน” ที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้พร้อมเดินหน้าผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ดังนี้

จุดแข็งแรก คือ “ความเชื่อมโยง” อาเซียนและอินเดียควรใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านกายภาพ ผ่านการผลักดันการดำเนินโครงการทางหลวงสามฝ่ายฯ และส่วนขยาย รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพระหว่างกัน และอาจขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ได้ด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ไทยยินดีที่อาเซียน-อินเดียเริ่มกระบวนการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าระหว่างกัน ให้ทันสมัยและอำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคด้วย

จุดแข็งที่สอง คือ “การพัฒนาด้านดิจิทัล” ไทยสนับสนุนให้อินเดียคว้าโอกาสในตลาดดิจิทัลอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการกระชับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการค้าดิจิทัล ซึ่งไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีศักยภาพรองรับการลงทุนและการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว นอกจากนี้ อินเดียในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมดิจิทัล และมีธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (ยูนิคอร์น) กว่า 100 ราย สามารถขยายการลงทุน และช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพและ MSMEs ตลอดจนสร้างยูนิคอร์นรายใหม่ ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

จุดแข็งที่สาม คือ “ความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ อาทิ เกษตรอัจฉริยะ การวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร สาธารณสุข และพลังงาน ตลอดจนเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยังสามารถร่วมกันผลักดันแนวทางที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไทยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระสำคัญภายใต้การเป็นประธาน BIMSTEC ของไทย และเห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับประเด็นที่อินเดียให้ความสำคัญภายใต้การเป็นประธานกลุ่ม G20 ในปีหน้าด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงการมีสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่เข้มแข็ง และการมีบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ สามารถร่วมมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ และหวังที่จะเห็นบทบาทที่แข็งขันของอินเดียในการผลักดันวาระดังกล่าวร่วมกับอาเซียน เพื่อสร้างดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ให้แก่ภูมิภาค

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาค และการลงมือขับเคลื่อน “จุดแข็ง” ข้างต้นอย่างจริงจัง จะเป็นแกนหลักสำคัญของการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-อินเดีย ไปสู่ทศวรรษใหม่ ที่เศรษฐกิจและประชาชนจะเติบโตไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในทุกด้าน

Related Posts

Send this to a friend