AROUND THAILAND

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติระเบิด คำตอบที่ยังต้องค้นหา และบทเรียนที่ต้องจดจำ

เหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ระเบิดที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 28 ราย เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (22 ตุลาคม 2563) นำมาสู่คำถามของสังคมเกี่ยวกับความปลอดภัย และมาตรฐานของท่อส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

จากข้อมูลล่าสุด (ธันวาคม 2562) พบว่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มีความยาวประมาณ 4,252 กิโลเมตร ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บนบก ความยาวประมาณ 2,119 กิโลเมตร และท่าในทะเล ความยาวประมาณ 2,133 กิโลเมตร โดยจะเชื่อมต่อแหล่งก๊าซธรรมชาติต่างๆ ในอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เข้ากับ ผู้ผลิตไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติและลูกค้าอุตสาหกรรมต่างๆ

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะเป็นท่อเหล็กกล้า (Steel) ที่มีความแข็งแรงสูง ผ่านมาตรฐานสากล และการทดสอบ เคลือบผิวภายนอกท่อป้องกันการผุกร่อน (Corosion Coating) และใช้ระบบการป้องกันการผุกรอ่นด้วยไฟฟ้า ที่จะทำให้มีอายุการใช้งาน 40 ปี

ระบบการส่งก๊าซฯ จะถูกควบคุมการทำงานและตรวจสอบโดยผ่านระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquistion System) หรือระบบ SCADA มีศูนย์ปฏิบัติการชลบุรีที่มีพนักงานควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง มีสถานีควบคุมก๊าซฯ (Block Valve Station) ตรวจสอบข้อมูลความดัน อุณหภูมิ และปริมาณการไหลของก๊าซฯ เป็นระยะตลอดแนวท่อ ซึ่งหากมีเหตุผิดปกติ อุปกรณ์เปิด-ปิดวาลวจะทำงานโดยการสั่งการจากศูนย์ปฏิบัติการโดยตรง ผ่านระบบสื่อสารหลัก เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบใยแก้วนำแสง ระบบวิทยุ และโทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมโยงทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบดาวเทียมเป็นระบบสำรอง และมีการใช้รถยนต์ตรวจการตรวจสอบตามแนวท่อเพื่อตรวจสภาพภายนอก ส่วนภายในเอง ก็มีการใช้กระสวยอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบภายในตลอดแนวท่อ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งเฉพาะจุดที่คาดว่าจะเสียหาย เพื่อซ่อมแซมได้ทันท่วงที

 

จากเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซฯ ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ที่ ต.เปร็ง นั้น เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้ท่อส่งก๊าซฯ เกิดรอยแตกได้ โดย นายโชคชัย ธนเมธี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันว่าจะมีการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายทั้งหมด ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุยังไม่สามารถระบุได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาจากแรงสั่นสะเทือนของรถบรรทุกดินที่เช่าพื้นที่ สร้างแคมป์คนงานเพื่อสร้างถนนบริเวณดังกล่าว เนื่องจากท่อส่งก๊าซฯ นั้นจะอยู่ลึกลงไปในพื้นดินถึง 5 เมตร และตัวท่อเป็นเหล็กกล้าที่มีความหนา

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแรงระเบิดที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น เนื่องจากเมื่อท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งมีแรงดันสูงเกิดรอยร้าว ก๊าซธรรมชาติจะถูกดันออกสู่บรรยากาศทันที และหากมีประกายไฟ ก๊าซฯ จะมีโอกาสลุกติดไฟได้ ซึ่งทันที่ที่เกิดเหตุ ทางศูนย์ควบคุม SCADA ตรวจพบความผิดปกติ และสั่งปิดวาล์วที่สถานีควบคุมก๊าซฯ WN2 – WN3 ทันที ทำให้สามารถจำกัดปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศและลุกติดไฟได้ คงเหลือแต่เพียงก๊าซฯ ที่ค้างอยู่ในท่อส่งก๊าซฯ ระหว่างสถานนีควบคุมดังกล่าวที่จะระบายออกจากท่อจนหมด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 กรมควบคุมมลพิษได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ในช่วงเย็นวันเดียวกัน และยืนยันถึงความปลอดภัยบริเวณดังกล่าวว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ไม่มีก๊าซฯ รั่วไหลออกมาอีก และจะทำการตรวจซ้ำในช่วง 1-2 วันนี้

แม้ขณะนี้ พื้นที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นอีก 1 บทเรียน ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องย้อนกลับมาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในทุกมิติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรเพื่อไม่เกิดเหตุเช่นนี้ซ้ำอีก

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat