AROUND THAILAND

น้ำเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง วางแผนระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา

ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีฝนตกลงมาในบางพื้นที่ แต่ไม่ส่งผลกระทบให้น้ำเพิ่มขึ้น ด้านน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มพระยาจะเริ่มทยอยระบายน้ำออกตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (31 ต.ค. 64) ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากจากทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน แม้จะมีฝนตกลงมาอีกในหลายพื้นที่ แต่ไม่ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักตอนล่างทยอยลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วหลายจุด เช้าวันนี้ (31 ต.ค. 64) ที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,277 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 2,299 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านบริเวณอ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังน้ำท่าก่อนไหลลงสู่เขตกรุงเทพฯและปริมาณมณฑล ลดลงเหลือ 2,890 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ทางด้านของลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดการระบายน้ำเหลือ 350 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนป่าสักฯ มีระดับน้ำลดลงจากวานนี้(30 ต.ค. 64) ดังนี้
– อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำลดลง 41 ซม.

– อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำลดลง 46 ซม.

– อ.เมืองสระบุรี ระดับน้ำลดลง 38 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 3.16 เมตร)

– อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 30 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 1.85 เมตร)

ส่วนที่เขื่อนพระรามหก ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 283 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมคลอง เพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในพื้นที่ตอนล่าง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงที่น้ำทะเลลงด้วย

สำหรับการระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทาน ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่ง โดยจะเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนเป็นอันดับแรก ที่จะมีการระบายน้ำออกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจะทยอยระบายออกตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 64 ทั้งนี้ จะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง ให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป ส่วนน้ำที่ระบายออกจากทุ่งนั้น จะใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก ก่อนระบายออกสู่ทะเลตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในระยะนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 30 ต.ค. – 1 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตัวนออกพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ ซึ่งได้สั่งการให้โครงการชลประทานในภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักไว้แล้ว จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

Related Posts

Send this to a friend