AROUND THAILAND

อจร.โคราช มีมติ “เพิ่มงบฯ 4,195 ล้าน – ขยายเวลาสร้าง 32 เดือน”

วันนี้ (29 มิ.ย. 65) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS : Webex Meetings) กับผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ

นายสรวิชญ์ สายศร ผู้แทนกรมขนส่งทางราง ชี้แจงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ ฯ -หนองคาย ระยะที่ 2 ว่า จาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ส่วนข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ต.โคกกรวด และ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง นครราชสีมา ที่ขอให้เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับตอม่อ ตั้งแต่สถานีรถไฟโคกกรวดถึงสถานีรถไฟนครราชสีมา ทดแทนคันดินยกระดับ รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร ได้นำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณา

โดย รฟท.มีแนวทางเลือก 4 รูปแบบ นำเสนอเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงต่อความต้องการของประชาชน รูปแบบที่ 1) ก่อสร้างตามสัญญาไม่มีการเปลี่ยนแปลง 2) เพิ่มสะพานลอย สะพานบก ราคาค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่ม 57.96 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่ม 16 เดือน รถไฟทางคู่เพิ่ม 36.90 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เปลี่ยนแปลง แต่ประชาชนไม่ยอมรับ 3) ยกระดับ 4.05 กม. รถไฟความเร็วสูงเพิ่ม 1,235 ล้านบาท เวลาเพิ่ม 26 เดือน รถไฟทางคู่เพิ่ม 904.41 ล้านบาท เวลาไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งลดผลกระทบมากกว่ารูปแบบที่ 2 และรูปแบบที่ 4) ยกระดับทั้งหมด 7.85 กม. รถไฟความเร็วสูงเพิ่ม 1,823 ล้านบาท เวลาเพิ่ม 32 เดือน รถไฟทางคู่เพิ่ม 2,372 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างไม่เปลี่ยนแปลง

นายวิเชียร ผวจ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ รฟท. ได้ให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองและวิถีชีวิตของประชาชนในอนาคต อย่างไรก็ตามขอให้มีการจัดทำหนังสือตอบรับชี้แจงการดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำไปชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้า หลังมีความต้องการให้เปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบที่ 4 คือ ยกระดับทางรถไฟตลอดเส้นทางผ่านเมืองโคราช เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมและชัดเจนที่สุด

Related Posts

Send this to a friend