ชลประทานสุโขทัยยอมรับ ปีนี้หนัก พร้อมรับมือน้ำจาก แพร่-อ.ศรีสัชนาลัย
ชลประทานสุโขทัยยอมรับ ปีนี้หนัก พร้อมรับมือน้ำจาก แพร่-อ.ศรีสัชนาลัย คาด 2 สัปดาห์เข้าสู่สภาวะปกติ
วันนี้ (26 ส.ค. 67) นายโสภัญญ์ ศรีสว่างวรกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย ให้สัมภาษณ์ริมแม่น้ำยม หลังวัดหนองโว้ง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ท้ายประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ โดยหลังจากมีฝนตกที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เราก็ได้จับตาดูปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่อำเภอเมืองสุโขทัย และดูแผนบริหารจัดการน้ำ โดยมีประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์คอยกักเก็บน้ำไว้
ปัจจุบันน้ำผ่านอำเภอศรีสัชนาลัยเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย 1,548 ลบ.ม./วินาที ฝั่งซ้ายเราได้ยกบานลอย หมายความว่าระดับน้ำสูงเท่าไรก็จะผันออกเท่านั้น โดยพื้นที่บริเวณริมคลองยมน่านอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่พื้นที่คลองยมเก่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าได้ระบายน้ำเกินความจุของลำน้ำ ทั้งนี้บริเวณอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง และอำเภอเมืองระดับน้ำจะสูงขึ้น แต่เราจะควบคุมไม่ให้น้ำล้นกำแพงที่ตัวเมืองสุโขทัย
ด้วยปริมาณน้ำ สุโขทัยถือว่าอยู่ในภาวะหนักที่จะรับมือ เพราะมีปริมาณน้ำมากเกินความจุ สิ่งที่เราจะต้องรับมือคือ น้ำจากอำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอวังชิ้น ทั้งนี้ต้องจับตาดูปริมาณฝนเพื่อวางแผนในการผันน้ำ และขอให้จับตาดูน้ำที่อาจล้นคันในบริเวณจุดเสี่ยง ทั้งอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง และอำเภอเมือง ทั้งนี้น้ำจากจังหวัดแพร่ จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องควบคุมและเร่งระบายน้ำบริเวณท้ายประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์
นายโสภัญญ์ ประเมินว่ากว่าจะสู่สภาวะปกติน่าจะไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ต้องจับตาดูปริมาณฝนซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของน้ำท่า การผันน้ำไปในลำน้ำสาขาต่าง ๆ จะช่วยพร่องน้ำได้ประมาณหนึ่งเท่านั้น ยืนยันว่ากรมชลประทานได้บริหารน้ำอย่างถูกต้องและถูกหลักวิชาการแล้ว
ขณะที่ประตูระบายน้ำหกบาท ระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว จึงต้องระบายน้ำผ่านคลองเส้นหลัก โดยสุโขทัยมีจุดแตกน้ำหลายแห่งซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พื้นที่สุโขทัยมีโอ่งขนาดใหญ่หน่วงน้ำที่ตำบลปากพระ อำเภอเมืองคล้ายกับบางระกำโมเดล น้ำทุกเส้นต้องไปที่ท้ายของตำบลปากพระเพื่อระบาย หลังแม่น้ำยมมีระดับลดลง โดยมวลน้ำที่ไหลผ่านอำเภอเมืองสุโขทัยขณะนี้อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 43 เซนติเมตร
สำหรับแผนการป้องกันในอนาคต กรมชลประทาน จะปรับปรุงคลองยมน่าน โดยมีการออกแบบใหม่ วิเคราะห์ศึกษาปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และประตูระบายน้ำในภาคเหนือ รวมถึงแผนรับมือปริมาณน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในปีต่อไป