AROUND THAILAND

‘ชัชชาติ’ ชี้ เขตป้อมปราบฯ ต้องรีบแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอย

เตรียมตั้งคณะทำงานเป็นพื้นที่เฉพาะ จัดระเบียบ-ปรับยุทธศาสตร์ให้เป็นแหล่งการค้าขายเชื่อมพื้นที่สำคัญในอนาคต

วันนี้ (24 ก.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการประชุมผู้ว่าสัญจร ร่วมกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยระบุว่า พื้นที่ป้อมปราบ ฯ เป็นพื้นที่เล็ก ๆ 1.9 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรในพื้นที่ ประมาณ 3หมื่นคน แต่ถือว่าเป็นเขตที่มีความสำคัญ เพราะย่านเศรษฐกิจอีกพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดังกล่าวมีการค้าขายในหลาย ๆ จุด ได้แก่ ตลาดโบ้เบ้, ตลาดคลองถม, ถนนเสือป่า และเจริญกรุง – เยาวราช

ปัญหาหลัก ๆ ที่มีการร้องเรียนมีอยู่ 2 อย่าง คือเรื่องร้านค้าหาบเร่แผงลอย ที่ตั้งอยู่บนทางเท้า กีดขวางทางเดิน ซึ่งในเขตป้อมปราบฯ มีจุดผ่อนผัน เพียง 2 จุดเท่านั้น คือบริเวณถนนวรจักร และมูลนิธิกว๋องสิว มีผู้ค้าอยู่ประมาณ 40 คน อีกทั้งบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ ถึงแม้บริเวณดังกล่าวจะไม่ใช่จุดผ่อนผัน แต่ก็ได้มีการอนุโลมให้ โดยจากที่สำรวจเมื่อช่วงเช้า ก็พบว่ามีหาบเร่แผงลอยวางเกะกะบนทางเท้าจริง ซึ่งปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน

นายชัชชาติ ระบุต่อว่า หลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นพื้นที่เขตป้อมปราบ ฯ โดยเฉพาะ นอกจากเรื่องการจัดระเบียบแล้วนั่น ก็เรื่องการปรับยุทธศาสตร์ของพื้นที่ เพราะเป็นจุดที่มีความเชื่อมโยงไปในพื้นที่หลายส่วน เช่น สำเพ็ง, เยาวราช, สนามมวยราชดำเนิน, ตลาดโบ๊เบ๊ รวมทั้งต้องปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นแหล่งการค้าขายที่สำคัญในอนาคต

“เราไม่ได้มองเพียงแค่การจัดระเบียบ แต่เรามองไปถึงเรื่องของการปรับยุทธศาสตร์ให้การเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในอนาคต และอาจต้องใช้เวลาในสักระยะนึง เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่สะสมมานาน” นายชัชชาติกล่าว

ปัญหาต่อมาคือ น้ำท่วมขังตามจุดต่างๆ ซึ่งเมื่อเช้าเห็นหลายจุด และได้แจ้ง ผอ.เขตป้อมปราบฯ ไปแล้วให้รีบดำเนินการ เพราะเป็นพื้นที่เล็กถ้ามีปัญหาก็จะมีผลต่อการเดินทาง ส่วนชุมชนต่างๆ มีสภาพที่ทรุดโทรมลง ส่วนใหญ่เป็นจุดที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น มีชุมชนบ้านบาตร ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำบัตรมาอย่างต่อเนื่อง มีชุมชนที่ทำละครทำศิลปะ คงต้องพยายามฟื้นอัตลักษณ์ของชุมชนเหล่านี้กลับคืนมา ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านบาตร จากข้อมูลที่มีปัจจุบันการทำบาตรน้อยลง กลายเป็นว่าคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ไม่อยากให้มีการทำบาตรเพราะหนวกหูเสียงตีบาตร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ้าเราดำรงไว้ และพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

Related Posts

Send this to a friend