ปลัด มท.ติดตามสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่บึงบอระเพ็ด
ปลัด มท.ติดตามสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่บึงบอระเพ็ด พร้อมเปิดเครื่องสูบน้ำแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ย้ำต้องร่วมกันรักษาระบบนิเวศ-ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
วันนี้ (23 ก.ย. 66) เวลา 08.45 น. ที่จุดสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด หมู่ที่ 7 ตำบลเกรียงไกร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ นาย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ ร่วมพบปะพูดคุยกับประชาชนผู้ใช้น้ำ และประธานองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด พร้อมกดปุ่มเปิดเครื่องสูบน้ำเป็นปฐมฤกษ์ และเยี่ยมชมการดำเนินงาน “มหกรรมเมนูอาชีพทางเลือกคนนครสวรรค์” ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชนด้านการทำอาหาร การทำการเกษตร และอาชีพอื่น ๆ ที่เป็นการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า บึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง เป็นแหล่งรวมทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์อันมหาศาลให้กับชาวจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์สภาวะโลกร้อน สะท้อนผ่านปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ต้องเผชิญกับฝนทิ้งช่วง ซึ่งบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรงมาก โดยจังหวัดนครสวรรค์ช่วยกันปกป้องให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม รักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ชาวนครสวรรค์มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในอนาคต
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 อยู่ในระดับวิกฤตเพียง 5.5 ล้าน ลบ.ม. แต่ระดับน้ำที่ปลอดภัย (50%) ของความจุบึงอยู่ที่ 100 ล้าน ลบ.ม. และระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำน่าน โดยคาดการณ์แล้วไม่มีทางที่น้ำจะเข้ามาตามธรรมชาติได้ จังหวัดจึงมีมติขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ด ตั้งเป้าว่าภายในเดือนกันยายนจะมีน้ำในบึงประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. และเดือนตุลาคมจะมีน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้เหลือเวลาการสูบน้ำอีกเพียง 50 วัน เพราะน้ำในแม่น้ำน่านจะคงตัวถึงประมาณวันที่ 10 พฤศจิกายน แล้วจะแห้ง หลังจากนั้นต้องรอปริมาณฝนในปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมากกว่าปีนี้ 15% ทั้งนี้ จากการสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม จนถึงวันนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำแล้ว 34 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะถึงเป้าหมาย 100 ล้าน ลบ.ม. ในเดือนตุลาคม และจะมีการเพิ่มจุดสูบน้ำอีกจุดหนึ่ง คือ บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้หารือกับผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทำนา และประกอบอาชีพต่าง ๆ เข้าใจและไม่ทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดต้องเน่าเสียหรือปนเปื้อนสารพิษ เพราะต้องการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวิภาพในบึง ทั้งพืชน้ำ สัตว์น้ำ และนก กว่า 1,000 ชนิด ให้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตเอลนีโญ ใช้น้ำร่วมกันเท่าที่จำเป็น และต้องร่วมกันดูแลบึงบอระเพ็ดให้ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ได้ สัตว์อยู่ได้ พืชอยู่ได้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวแนะนำว่า ในระยะสั้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำ โดยใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนระยะยาว ให้ประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่อาจไหลลงน้ำไปทำให้บึงเสียหาย นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ให้ทุกครอบครัวคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ปลูกป่า ใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเกิดเอลนีโญ ทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดแห้งเช่นปีนี้
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลณีโญในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคน้ำเพื่อการประกอบอาชีพด้านการประมง ปศุสัตว์ และการรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในบึงบอระเพ็ด ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตประปาหมู่บ้าน และระบบนิเวศที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศไทยในลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่น ๆ
ทั้งนี้ จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตประปาหมู่บ้านในบึงบอระเพ็ดที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง จำนวน 3 เครื่อง สูบน้ำจากแม่น้ำน่านผ่านคลองบอระเพ็ดไปยังบึงบอระเพ็ดไม่น้อยกว่า 70 วัน และสูบน้ำจากโครงการระบบส่งน้ำจากแม่น้ำน่าน-บึงบอระเพ็ด ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 ด้วยเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า เข้าพื้นที่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระบบนิเวศ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ถึงปัจจุบัน
“การสูบน้ำทั้ง 2 แห่งในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดให้ได้ 60 ล้าน ลบ.ม. ภายในเดือนกันยายน 2566 และปริมาณรวม 100 ล้าน ลบ.ม. ภายในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนในปี 2567″ นายชยันต์ กล่าว