ชป.ระดมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำพื้นที่ ประสบอุภัยใน จ.นครราชสีมา
กรมชลประทาน ระดมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำ พื้นที่ประสบอุภัยในจังหวัดนครราชสีมา หลังได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน จนเกิดฝนตกหนักในพื้นที่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านตั้งแต่วันที่ 16-17 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำปริมาณมาก ไหลลงลำน้ำลำตะคองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.เมืองนครราชสีมา อ.คง อ.ด่านขุนทด อ.โนนสูงไทย และ อ.โนนสูง
กรมชลประทานได้ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.) จอหอ 3 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ที่ ปตร.ข่อยงาม ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 5 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ที่ ปตร.กันผม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydroflow 1 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำลำตะคองลงสู่แม่น้ำมูล ส่วนที่ลำเชียงไกรได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 แห่ง รวม 14 เครื่อง
นอกจากนี้ได้นำถุงบิ๊กแบ็คบรรจุทรายไปวางเป็นแนวป้องกันน้ำจากลำตะคองไหลลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ที่ปตร.คนชุม ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำที่ไหลผ่านเข้าในตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา
สำหรับน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ วันนี้ (22 ต.ค. 64) ที่เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 321 ล้านลูกบาศก์เมตร (102 %) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 52 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันยังคงปิดการระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) อำเภอด่านขุนทด มีปริมาณน้ำ 8.72 ล้านลูกบาศก์เมตร (103 %) ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและทางระบายน้ำล้นรวม 1.21 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อำเภอโนนไทย มีปริมาณน้ำ 23.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (85 %) ระบายน้ำวันละ 15.27 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการเจ้าหน้าที่ชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปการช่วยเหลือประชาชน และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ที่สำคัญให้เน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง