ชป.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังมีฝนตกหลายพื้นที่
ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (21 ก.พ.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 52,406 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 28,468 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 13,044 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 5,659 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,577 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของแผนฯ
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 6.97 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 8 เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 4.26 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 51
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน มีปริมาณฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เร่งกักเก็บน้ำ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีตและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนในอีก 2 เดือนข้างหน้า ด้วยการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน และประตูระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพพร้อมหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ