เปิดศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำ ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้
วันนี้ (17 พ.ย. 64) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประขุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือ พร้อมเปิดศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑลเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมตาปี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรงตั้งแต่วันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช และสงขลา รวมจำนวน 26 อำเภอ 66 ตำบล 256 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,246 ครัวเรือน ประกอบกับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลายแห่ง เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้นั้น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และจัดตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าสำหรับเผชิญเหตุ ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการเหตุในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ภาคใต้ปี 2564 ให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเชื่อมโยงข้อมูลนำมาคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮและกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ที่สำคัญได้ประสานกับจังหวัดในการรายงานและแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน