บกปภ.ช. รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง
วันนี้ (17 ก.ย. 67) เวลา 13.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. และ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมแถลงข่าวกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ครั้งที่ 1 สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด และการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมแจ้งเปิดใช้งานการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยผ่าน SMS ทั้งแบบล่วงหน้าและฉุกเฉิน
นายไชยวัฒน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พังงา ชุมพร ภูเก็ต และสตูล รวม 45 อำเภอ 192 ตำบล 934 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,831 ครัวเรือน สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลง การช่วยเหลือจึงมุ่งไปที่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
ทั้งนี้ ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครมูลนิธิ ส่งกำลังพลและอุปกรณ์เข้าฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทาง พร้อมให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
สำหรับพื้นที่ภาคอีสาน ปภ.ได้ระดมสรรพกำลังจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอีสานไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน โดยกระจายกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับน้ำโขงที่ล้นตลิ่งและระบายน้ำออกจากพื้นที่ วางกระสอบทรายกั้นน้ำ รวมถึงอพยพประชาชน นอกจากนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที บกปภ.ช.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center: EOC) เพื่อติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล ประสานงาน และบริหารทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง
“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้หารือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ผู้ให้บริการเครือข่าย AIS True และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยบ่ายวานนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะร่วมกันดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12- 24 ชั่งโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง”
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงภัย และส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือพื้นที่เสี่ยงภัย โดยสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันทีหากมีสถานการณ์ภัยที่เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ จะประชาสัมพันธ์และแจ้งรายละเอียดข้อความเพื่อสร้างความเข้าใจอีกครั้งก่อนทำการแจ้งเตือน