AROUND THAILAND

กรมชลฯ เร่งเครื่องงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ หนองคาย-อุดรธานี แก้ท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน

วันนี้ (14 ก.พ. 65) ที่จังหวัดหนองคาย นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างจังหวัดหนองคาย และโครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำม้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุดรธานี พร้อมเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในเร็ววัน 

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย เป็นโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ ได้แก่ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ทำหน้าที่สูบระบายน้ำที่ท่วมขังในลำน้ำห้วยหลวงลงสู่แม่น้ำโขงและป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงไหลย้อนเข้ามาท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนในช่วงฤดูน้ำหลากงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง เพื่อทำหน้าที่หน่วงน้ำด้านบนไม่ให้ไหลลงมาเร็ว สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง

รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำด้านหน้าอาคารไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำย่อยพร้อมระบบชลประทานเพื่อส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ 315,000 ไร่ โดยโครงการมีแผนดำเนิน 9 ปี (ปี 2561 – 2569) ทั้งนี้ได้สั่งการเร่งรัดงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองให้แล้วเสร็จ สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้ในปี2566  ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน 

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำม้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีความจุ 5.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554 เป็น 1 ใน 6 ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ซึ่งต่อมาในปี 2563 กรมชลประทานได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำ ประกอบด้วย  ท่อส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย และสายแยกซอย ความยาวรวมประมาณ 20 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า ร้อยละ 33 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขต อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 3,300 ไร่ 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ความสำคัญกับการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับงบประมาณค่าลงทุน มีการลงพื้นที่สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการปรับรูปแบบการเกษตรใหม่ เน้นการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยขั้นตอนแรกจะมีการสร้างแปลงต้นแบบ 2-3 รูปแบบ เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรทางเลือก ให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend