จับตา กรมทรัพย์สินทางปัญญา เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ส่งผล CL ยา
จับตา กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ให้ ครม.พิจารณา วันนี้ (13 ก.ค.64) โดยร่างฉบับดังกล่าว มีการแก้ไขในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการ CL
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไข ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมนำเสนอให้ ครม. พิจารณานั้น มีการแก้ไขในมาตรา 51 ที่กำหนดว่า “กรณีที่มีการประกาศใช้มาตรการ CL โดยกระทรวง ทบวง หรือกรมนั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน และผู้ทรงสิทธิบัตรสามารถยื่นคัดค้านคำสั่งประกาศใช้มาตรการ CL ต่อศาลได้ รวมทั้งสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อยกเลิกคำสั่งการประกาศใช้มาตรการซีแอลเมื่อเหตุแห่งการใช้สิทธิหมดไป”
นายเฉลิมศักดิ์ มองว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ควรเสนอแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่จะให้การประกาศใช้ซีแอลทำได้ยากขึ้น แต่หากยังดื้อดึงที่จะเสนอ ก็เท่ากับว่า กรมทรัพย์สินฯไม่เห็นค่าชีวิตของคน ที่ต้องแลกกับการคุ้มครองการผูกขาดด้วยสิทธิบัตร
“เราหวังว่า ครม. และรัฐสภา ที่จะพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายนี้ จะมองเห็นจากกรณีโควิด 19 ว่า ระบบสิทธิบัตรที่เป็นอยู่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงวัคซีนและยาจำเป็นอย่างไร ซึ่ง ครม. ต้องไม่รับร่างแก้ไขกฎหมายที่มัดมือมัดเท้าตัวเองในการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติ” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา ให้ข้อมูลว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ประชุมมีมติให้จัดทำหนังสือส่งให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความคิดเห็นและความกังวลต่อการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับซีแอลใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร ด้านนายเจด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยส่งจดหมายถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 โดยระบุว่า การแก้ไขดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีราคาแพงและมีผลต่อชีวิตผู้ป่วย ภาระค่ารักษาพยาบาลในครัวเรือน และภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ
“ช่วงปี 2549 – 2550 ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการซีแอล 3 ครั้ง กับยา 7 ชนิดที่ใช้รักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นการประกาศใช้ภายใต้เงื่อนไขเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศสามารถจัดหายาเหล่านั้นโดยการนำเข้าและผลิตภายในประเทศให้กับผู้ป่วยหลายแสนคน ช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณด้านยาได้หลายพันล้านบาทในแต่ละปี รวมถึงทำให้สามารถนำยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ประกาศใช้ซีแอลไปและผลิตเองได้ มาปรับใช้รักษาโควิด 19 ในช่วงการระบาดในไทยระลอกแรกได้” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว