AROUND THAILAND

เร่งกำจัดวัชพืชใน ‘ทะเลบัวแดง’ จ.อุดรธานี พบ จอกหูหนูยักษ์กว่า 2 ล้านตัน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนิน “โครงการกำจัดวัชพืชหนองหาน โดยใช้เรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบก” ที่บ้านเชียงแหว หมู่ที่ 2 ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

สำหรับหนองหานกุมภวาปี มีพื้นประมาณ 45 ตร.กม. หรือ 28,125 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี และมีบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคของชาวบ้านโดยรอบ และยังเป็นแหล่งน้ำท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัด

พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปี ‘ทะเลบัวแดง’ ยังถูกจัดให้อยู่ในประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยพงหญ้าขึ้นแฉะ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบัน มีปัญหาดินตะกอนทับถม แหล่งน้ำตื้นเขิน และมีวัชพืชที่หนาแน่น ประชาชนในพื้นที่จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณมายังกรมทรัพยากรน้ำ ขอในดำเนินโครงการกำจัดวัชพืชหนองหาน

ย้อนไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 65 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เรียกประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หาทางจัดการ ‘จอกหูหนูยักษ์’ ในหนองหาน-กุมภวาปี หรือ ‘ทะเลบัวแดง’ หลังพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะใช้ทั้งแรงงานคนและเครื่องจักร ร่วมกันเก็บออกจากพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พื้นที่หนองหาน-กุมภวาปี 22,000 ไร่ พบจอกหูหนูยักษ์อยู่กว่า 2 ล้านตัน แต่ละปีสามารถเก็บได้ไม่ถึง 10% เพราะเก็บได้เฉพาะใกล้ตลิ่ง ด้วยการใช้เรือท่องเที่ยวดันเข้าฝั่ง ก่อนจะใช้แบ็กโฮของ อบจ.ตักขึ้นมา

จอกหูหนูยักษ์เป็นพืชลอยน้ำ ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง ขยายพันธุ์ด้วยการแตกยอดจากใกล้ซอกใบของต้นเดิม สามารถแตกออกไปได้เรื่อยๆ ลำต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดไปก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่ง สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าใน 2-4 วัน และเพิ่มมากเป็น 2 เท่าใน 7-10 วัน ทำให้จาก 1 ต้น สามารถเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ ได้ในเวลา 3 เดือน

จอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นหนาแน่น ทำให้แดดส่องไปไม่ถึงพื้นน้ำ ลดการเติมออกซิเจนในน้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำตายได้ ส่วนการทับถมของซากพืชจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำ จะยิ่งทำให้แหล่งน้ำตื้นและเขิน พืชไม้น้ำเดิมหายไป สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย พืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชจะเข้ามาแทนที่ และในที่สุด แหล่งน้ำนั้นก็จะเปลี่ยนไป พืชพรรณที่ขึ้นอยู่ก็จะหายไปด้วย นั่นหมายความว่า หากปล่อยไว้โดยไม่จัดการใดๆ อีกไม่กี่ปี ทะเลบัวแดงจะกลายเป็นทะเลจอกหูหนูยักษ์

Related Posts

Send this to a friend