การรถไฟฯ แจงแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาท รุกที่ดิน “เขากระโดง-มักกะสัน”

กรณีที่นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง “รฟท.ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่กลับเลือกฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านนับ 100 ราย ที่เข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณที่ดินรถไฟฯ มักกะสัน กรุงเทพฯ”
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงว่า กรณีที่ดินเขากระโดง เป็นปัญหาเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบนที่ดินรถไฟ มีการยื่น ป.ป.ช.ให้พิจารณา ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ แต่ไม่ได้สั่งให้ รฟท.ไปฟ้องประชาชน ประกอบกับเมื่อปี 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ราษฎรฟ้อง รฟท. ให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ รฟท. นำเสนอว่า พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของรถไฟ แต่คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ ไม่สามารถเอาคำพิพากษาไปบังคับกับที่ดิน 5,083 ไร่ได้
รฟท. จึงได้นำแนวทางคำพิพากษาดังกล่าว มาดำเนินการขอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินนอกเหนือจากรายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว โดยทำหนังสือถึงกรมที่ดินให้วินิจฉัยว่าการออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนด 90 วัน กรมที่ดินกลับไม่ได้พิจารณาตอบกลับมา รฟท. จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไม่ดำเนินการตามที่ รฟท. ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรถไฟ ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ขณะเดียวกัน ยังยื่นเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทกับกรมที่ดิน ซึ่งเป็นการประเมินจากรายได้ที่ รฟท. ต้องสูญเสียไป (ไม่รวมดอกเบี้ย) จากการที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา
ปัจจุบัน ที่ดินที่ รฟท. ได้ยื่นให้ศาลปกครองตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิมีทั้งหมด 5,083 ไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ประมาณ 900 ราย แบ่งเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 700 ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง และอื่นๆ ที่ไม่ปรากกฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง
รฟท. ยืนยันว่า พร้อมจะดำเนินการนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นทรัพย์สินของ รฟท. แต่จะไม่ฟ้องร้องตรงต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองให้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. มี 2 รูปแบบ คือ การบุกรุกที่ดินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ และการเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ ซึ่งจะมีการดำเนินการแก้ไขที่แตกต่างกัน ปัจจุบันมีกรณีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศ 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 1,538 ราย สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นรวม 3,045 ราย และพื้นที่อื่นๆ 12,459 ราย ในจำนวนนี้ได้รวมถึงกรณีชาวบ้าน 100 ครัวเรือน ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณริมทางรถไฟมักกะสันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมาย มีการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อขอคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแล้ว
ส่วนอีกกลุ่มคือ กรณีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ โดยมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินเป็นเอกสารราชการอย่างถูกต้อง และอาศัยอยู่โดยสุจริตจำนวน 1,137 ราย ประกอบด้วย พังงา-ท่านุ่น 20 ราย อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 15 ราย บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี 2 ราย เขากระโดงจ.บุรีรัมย์ 900 ราย และพื้นที่อื่นๆ 200 ราย ซึ่งในส่วนนี้ รฟท. จะไม่ดำเนินการกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์เหมือนกับกลุ่มผู้บุกรุก เพราะ รฟท. มองว่าประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ยังเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินโดยสุจริต