AROUND THAILAND

กรมชลประทาน สรุปผลบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67 พร้อมรับมือฤดูแล้งปี 68

วันนี้ (12 พ.ย.67) กรมชลประทานเสวนา “สรุปบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 และเตรียมความพร้อมสู่ฤดูแล้งปี 2567/2568” โดยมีนายยงยศ เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ห้องโถงอเนกประสงค์ อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร

นายยงยศ ระบุว่าช่วงเวลานี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างยั่งยืน การเสวนาในวันนี้ จึงจะเป็นโอกาสที่ทำให้กรมชลประทานทบทวน และประเมินผลการทำงานที่ผ่านมา เตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

ในวงเสวนานายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปีนี้บริบทการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนไป เนื่องด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน เจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่ปี 66 และปลายปี 67 เราจะเจอปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจากสถิติในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานี้ญาในปีเดียวกัน อีกทั้งวงรอบการเกิดปรากฏการณ์ยังเร็วขึ้นจากเดิม ปัจจุบันเกิดขึ้นภายใน 2 ปีครึ่ง จากเดิมเกิดขึ้นภายใน 7 ปี

นายสมควร ยังสรุปภาพรวมสภาพอากาศของปี 67 โดยช่วงปลายปียังจะต้องจับตาพายุ ซึ่งยังไม่เคลื่อนตัวเข้ามาที่ภาคใต้ แต่ส่งผลให้มีมรสุม ส่วนสถานการณ์ภาคเหนือฝนตกแต่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดตาก มีปริมาณฝนค่อนข้างน้อย เรื่องภัยแล้งยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

ดังนั้นการคาดการณ์จะต้องละเอียดถี่ถ้วนและเจาะจงในแต่ละพื้นที่ หน่วยปฏิบัติงานอย่างกรมอุตุนิยมวิทยา จึงพยายามวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำ ขอให้มั่นใจในข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เราวิเคราะห์จนได้ข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตราบใดที่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังจะสามารถบริหารจัดการน้ำในอนาคตได้

สำหรับฤดูแล้งในปี 67 และ 68 ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา และลมจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีกำลังแรง ส่งผลให้ความชื้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เพิ่มสูงขึ้น และอุณหภูมิของน้ำทะเล โดยช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.67 มีมวลอากาศเย็นมาไม่มาก และมีโอกาสเกิดฝนในภาคใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันตกจากเมียนมา คาดการณ์ว่าตั้งแต่ พ.ย.67-เม.ย.68 จะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ทำให้ฝนไม่ขาดช่วงเหมือนปีที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่าปีที่ผ่านมาน้ำท่าเริ่มเข้าสู่ระดับแปรปรวน ตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย 1,450 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำจากฝนราว 7 แสนล้าน ลบ.ม./วินาที ขณะที่จุดวัดน้ำท่าที่จังหวัดนครสวรรค์พบว่าจะมีการขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ในต้นช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.67 มีแนวโน้มปริมาณน้ำท่าน้อยลง และมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.กระทบต่อการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก จากสถิติ 15 ปีย้อนหลังพบว่าช่วงต้นฤดูแล้งปริมาณน้ำค่อนข้างเพิ่มขึ้น ทำให้กรมชลประทานจะต้องสำรองน้ำเพื่อมาช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น

จึงขอแนะนำว่า กรมชลประทานจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการบริหารจัดการน้ำต้นทุน จะต้องมีแหล่งเก็บน้ำมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงกับระบบชลประทาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีลดการใช้น้ำ อีกทั้งปีที่ผ่านมาไทยยังมีปัญหาเรื่องการเตือนภัย มีการเตือนภัยวงกว้างทั้งจังหวัด อนาคตจึงจะต้องแจ้งเตือนให้ละเอียด และเฉพาะเจาะจง ระบุเวลาการเกิดภัยที่ชัดเจน

ท้ายที่สุดจะต้องมีการปรับตัวรับกับสถานการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคุมเรื่องการให้น้ำ มีรูปแบบการให้น้ำที่เหมาะสม รวมถึงจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำท่าในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง กรมชลประทานควรทำพื้นที่ต้นแบบใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่าไทยบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งไปพร้อมกัน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างทางสภาพภูมิอากาศ โดยใช้หลักการบริหารจัดการน้ำ “ต้นกักเก็บ กลางหน่วง ปลายเร่งระบาย” แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ ยกตัวอย่างลำน้ำยม จังหวัดสุโขทัยเกิดอุทกภัยสองหน น้ำมาจากจังหวัดแพร่ ลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย 1700 ลบ.ม./วินาที จึงต้องมีการผันจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่าน และใช้ทุ่งบางระกำรับน้ำ ซึ่งปีนี้รับน้ำเกินกำลังอยู่ที่ 571 ล้าน ลบ.ม./วินาที

สิ่งสำคัญในช่วงอุทกภัยคือ จะต้องรู้เรื่องเส้นทางน้ำ แจ้งเตือนไปยังประชาชน แต่สิ่งที่บริหารจัดการยากคือ กรณีที่น้ำหลากเข้ามาในพื้นที่ เช่น กรณีจังหวัดเชียงใหม่ กรมชลประทานจึงต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด ขณะที่ฤดูแล้งนี้ยืนยันว่า กรุงเทพมหานครจะมีน้ำใช้แน่นอน เพราะโดยปกติในฤดูแล้งคนกรุงเทพมหานครจะใช้น้ำจากเขื่อน 100% ซึ่งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำ

นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประธานที่ 2 ดูแลพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่านและลำปาง เปิดเผยข้อมูลการกักเก็บและการระบายน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด พร้อมกับระบุถึง 6 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ 1.เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5.สแตนด์บายเครื่องจักรเครื่องมือ 6.การแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือของปีนี้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พัดผ่านตอนบน พายุยางิ พายุดีเปรสชั่น มวลความกดอากาศ ซึ่งทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งด้วย

โดยขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 2 ได้ถอดบทเรียนขากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าของแต่ละหน่วยงานยังมีความแตกต่างกัน หากปรับให้เป็นข้อมูลเดียวกันจะทำให้ง่ายต่อการใช้งาน อีกทั้งเครื่องมือในลำน้ำสาขายังไม่ครอบคลุม จึงขอเสนอแนะให้ติดตั้งสถานีตรวจวัด พร้อมกับมีมาตรการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat