ชัชชาติ เผย กรมชลฯ รับเป็นเจ้าภาพ ทำทางด่วนน้ำ
จากคลองประเวศลงแม่น้ำบางปะกง กทม.ไม่เกี่ยง แต่ขอระบายน้ำ 50 ลบ.ม.โดยไม่จำกัดเวลา แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตะวันออก
วันนี้ (8 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 ร่วมกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ ว่า เบื้องต้น กทม.เสนออุโมงค์ระบายน้ำจากลาดกระบังลงไปที่คลองร้อยคิว เป้าหมายคือ ต้องการระบายน้ำ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงคิดว่าการระบายน้ำด้วยอุโมงค์น่าจะเร็วและไม่กระทบต่อประชาชน โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า กรมชลประทานจะทำทางด่วนน้ำระบายน้ำผ่านคลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราในอัตรา 50 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาทีเท่ากัน ซึ่ง กทม.ยืนยันว่า จะต้องมีทางระบายน้ำจากลาดกระบังไปในช่องทางอื่น นอกเหนือการระบายน้ำลงมาที่คลองพระโขนง
“เราเสนอว่า ทางด่วนน้ำคลองประเวศต้องระบายน้ำ 50 ลูกบาศ์กเมตรทุกครั้งที่ กทม.ร้องขอ โดยไม่จำกัดเวลา หากออกในประสิทธิภาพเท่ากัน เราไม่ได้เกี่ยงอะไร”
โดยในระยะเร่งด่วน กทม. ได้เสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อขอรับงบประมาณในปี 2567 เป็นโครงการทำประตูน้ำที่พระโขนง เพิ่มการสูบให้ดีขึ้น ทำเขื่อนตามแนวคลองประเวศฯ หรือคลองพระโขนงตอนปลายให้ครบถ้วน เพราะที่ผ่านมาเขื่อนทำไม่ครบ ทำให้น้ำท่วมแถวพัฒนาตอนปลาย เป็นโครงการที่บรรจุในปีงบประมาณ 2567
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากระบายน้ำออกคลองประเวศฯ และคลองพระองค์เจ้าฯ กทม.จะเจอปัญหาการระบายน้ำเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ปลายสุดของเขตลาดกระบัง มีประตูระบายน้ำของกรมชลประทานอยู่ มีพลังดูดเกิน 60 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที แต่ที่ผ่านมาดูดไม่ได้เพราะจะไปท่วมพื้นที่ประชาชน แนวคิดของกรมชลประทานคือ จะทำเขื่อนกั้นน้ำในคลองต่าง ๆ ให้สามารถรับน้ำได้โดยไม่ไหลออกไปท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่ง กทม. กรุงเทพมหานครยืนยันว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องคลองย่อย กรมชลประทานจึงรับข้อเสนอนี้ไปพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ในที่ประชุมพลเอกประวิตร เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งอนุกรรมการชุดย่อยมากำกับดูแลเรื่องต่าง ๆ ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ เพราะได้ลงพื้นที่เขตมีนบุรีมาแล้ว โครงการต่าง ๆ ที่ กทม.เสนอไป ท่านก็รีบให้บรรจุแผนและเร่งดำเนินการ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเป็นการคุยกันหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทานและจังหวัดต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมและร่วมกันวางแผนระยะยาว 20 ปี น่าจะปรับปรุงภาพรวมของการระบายน้ำได้ดีขึ้น