AROUND THAILAND

กรมชลประทาน แถลงสถานการณ์น้ำ สั่งระบายน้ำ เฝ้าระวังน้ำหนุน

กรมชลประทาน แถลงสถานการณ์น้ำ เผย ตัวเมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง คาด กลับสู่สภาวะปกติใน 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกซ้ำ ส่วนรอบนอกใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ยัน หลายเขื่อนไม่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ สั่งระบายน้ำ เฝ้าระวังน้ำหนุน

วันนี้ (7 ต.ค. 67) เวลา 11:30 น. ที่กรมชลประทาน ดร.เอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำของสำนักงานชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมแผนบริหารการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ดร.เอกภาพ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทุกหน่วยงานว่า สถานการณ์น้ำฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานบางจังหวัด บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะที่สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า สถานการณ์น้ำเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ระดับน้ำได้ต่ำกว่าเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว คาดว่าในช่วงบ่ายวันนี้ ระดับน้ำจะลดน้อยกว่าตลิ่งแม่น้ำปิง

อีกทั้ง กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องสูบน้ำออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเราได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว 47 ตัว สามารถทำงานได้ 26 ตัว โดยในส่วนที่เหลือเรารอระดับน้ำลดต่ำกว่าตลิ่งที่จะได้เร่งระดมสูบ และคาดว่าไม่เกิน 2-3 วันหลังจากนี้ สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาอีก ขณะเดียวกันในพื้นที่รอบนอกตัวเมืองคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

สำหรับเขื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล ขณะนี้ น้ำยังไม่เต็มในปริมาณที่รับได้ ยังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะ และสามารถรองรับน้ำที่มาจากแม่น้ำปิงได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ตอนนี้ระบายน้ำอยู่ที่ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ

ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ที่หลายคนกังวลว่าจะเกิดปัญหาทำให้น้ำเข้าท่วมกรุงเทพฯ นั้น จากการรายงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบในขณะนี้ว่า เราได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทุ่งทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก ก็คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ และคณะกรรมการที่บริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา จะคงปล่อยน้ำไว้วันละกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยืนยันว่า สถานการณ์ยังไม่วิกฤต สามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะลำน้ำเจ้าพระยา สามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,500 ลูกบาศก์เมตร และยังมีช่องว่างที่สามารถรองรับน้ำได้อยู่ จึงคิดว่ายังไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น เว้นแต่น้ำทะเลหนุน

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ฝนในพื้นที่ตอนเหนือเริ่มซาลงแล้ว และปริมาณฝนจะไปมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

ดร.เอกภาพ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำในภาคอีสานยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะอีสานตอนล่าง โดยได้รับรายงานว่าเขื่อนลำตะคอง มีน้ำในเขื่อนเพียงแค่ 34 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนนางรองมีน้ำในเขื่อนเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ กรมชลประทานที่ 8 จึงเสนอให้ดำเนินการทำฝนหลวงใน 2-3 เขื่อน ของภาคตะวันออก

ส่วนน้ำที่เร่งระบายคือน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่เกินปริมาณอยู่ และเราเป็นห่วงน้ำที่มาจากภาคเหนือ แต่ใช้เวลาอีกนาน และเป็นห่วงน้ำทะเลหนุน จากการรายงานของอุทกศาสตร์ที่บอกว่า น้ำจะหนุนในวันที่ 18 ตุลาคม เราจึงได้ระบายน้ำออกก่อน โดยน้ำที่มาจากภาคเหนือนั้น เราได้ใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำไว้ และระบายออกทุ่งภาคกลาง ซึ่งมีการเกี่ยวข้าวไปแล้ว และจะเริ่มผลักดันนาปีรอบที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน รวมถึงความกังวลเรื่องการเก็บน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้ง ในการทำนาปีรอบ 2 โดยชี้แจงว่า เราได้เก็บน้ำไว้พอ ในการเพาะปลูก และการทำนา ก็ขอให้สบายใจได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง โดยเฉพาะแผนการรับมือเมื่อน้ำมา ดร.ธเนศร์ กล่าวว่า ในปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ ตรงที่มีฝนตกประจุกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำให้น้ำสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ที่สูงกว่าตลิ่ง 1.10 เมตร โดยในการติดตามเราต้องติดตามสถานการณ์ฝน และสภาพอากาศที่เปลี่ยน ทำให้เกิดอุทกภัยซ้ำๆ และเป็นสิ่งที่เฝ้าระวังในอนาคต และเราต้องโฟกัสลุ่มน้ำเจ้าพระยาในตอนล่าง ในช่วงหลังกลางเดือนนี้เป็นต้นไป

ส่วนประเด็นดราม่าเรื่องประตูระบายน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่าสามารถเปิดใช้ได้แค่ประตูบานเดียว ดร.เอกภาพ ระบุว่า เราได้รับรายงานจากกรมชลประทานที่ 1 ก่อนน้ำจะมาประตูระบายน้ำใช้งานได้ปกติ แต่ในระหว่างน้ำที่มา มีซุงมาอยู่ที่หน้าประตู ทำให้สลิงด้านหน้าหลุด เราจึงใช้เครนมายกประตูขึ้น และรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการแล้ว และในช่วงบ่ายนี้น้ำก็จะลดต่ำกว่าตลิ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงงบประมาณของกรมชลประทาน ต่อการบริหารจัดการน้ำ ดร.เอกภาพ ชี้แจงว่า เราได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งงบที่ได้มา เรากระจายทั่วทั้งประเทศ ทั้งการสร้างเขื่อนใหม่ และการบริหารน้ำจุดอื่น ฉะนั้นเราดูแลบริหารจัดการน้ำอย่างดีอยู่แล้ว เราเพิ่มพื้นที่ที่ต้องการน้ำชลประทาน และเพิ่มพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่ ซึ่งงบประมาณให้มาก็ยังไม่เพียงพอ

ส่วนความเสียหาย ดร.เอกภาพ ระบุว่า วันนี้รัฐบาล โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งในช่วงเวลา 16:00 น. ของวันนี้ คณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก จะเข้าพบนายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เพื่อหารือการประเมินความเสียหายที่เกิดอุทกภัยในครั้งนี้ และการแก้ไขปัญหาการเอาดินโคลนออกจากที่ดิน และบ้านเรือนของประชาชน

Related Posts

Send this to a friend